posttoday

การรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าแบบใหม่ด้วยเส้นเอ็นจิงโจ้

24 สิงหาคม 2566

จิงโจ้ ถือเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศออสเตรเลีย นอกจากกระเป๋าหน้าท้องที่ไว้เลี้ยงลูกอันเป็นเอกลักษณ์ อีกสิ่งที่เป็นจุดเด่นคือพลังกระโดดอันน่าทึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีการนำเส้นเอ็นจิงโจ้มาปลูกถ่ายในมนุษย์เพื่อรักษาอาการ เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

เชื่อว่าทุกท่านย่อมรู้จัก จิงโจ้ มาไม่มากก็น้อย กับสัตว์ประจำชาติประเทศออสเตรเลียที่มีจุดเด่นตรงกระเป๋าหน้าท้องที่มีไว้ใส่ลูกน้อย ด้วยภาพลักษณ์อันโดดเด่นในการเลี้ยงดูลูกน้อยอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้หลายคนพากันจดจำจิงโจ้ได้เป็นอย่างดี

 

          จุดเด่นที่มีมากไม่แพ้กันของสัตว์ชนิดนี้คือ ความคล่องแคล่วว่องไวและพลังกระโดด หนึ่งในอาวุธสำคัญช่วยให้มันสามารถใช้ชีวิตในธรรมชาติ จากพลังกระโดดสูงสุดถึง 12 เมตร ที่มีความเร็วกว่า 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถทำได้แม้แบกลูกเอาไว้ในกระเป๋าหน้าท้องก็ตาม

 

          ความสามารถทางกายภาพอันโดดเด่นของจิงโจ้ เกิดจากพลังกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอันทรงพลังของสัตว์ชนิดนี้ ถือเป็นขีดความสามารถอันน่าทึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถนำเส้นเอ็นจิงโจ้อันทรงพลัง มาปลูกถ่ายเพื่อใช้การรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า

 

การรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าแบบใหม่ด้วยเส้นเอ็นจิงโจ้

 

การรักษาเส้นเอ็นไว้หน้าข้อเข่าด้วยเส้นเอ็นจิงโจ้

 

          ผลงานนี้มาจากทีมวิจัยจาก Macquarie University แห่งออสเตรเลีย ประเทศที่มีจิงโจ้เป็นสัตว์ประจำชาติ กับแนวคิดในการนำเส้นเอ็นอันแข็งแรงของจิงโจ้มาปลูกถ่ายแก่มนุษย์ เพื่อรักษาอาการเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด ซึ่งสร้างปัญหาให้แก่ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

 

          เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด ถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความเสียหายที่มีต่อเส้นเอ็น เมื่อเกิดการบาดเจ็บสะสมหรือการปะทะอย่างรุนแรงจะส่งผลให้เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าเกิดความเสียหาย เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีการขยับตัวผิดท่า เล่นกีฬา หรือประสบอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินเหินตามปกติ นำไปสู่อาการข้อเข่าเสื่อมในอนาคต

 

          แนวทางรักษาปัจจุบันที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ การผ่าตัดเปลี่ยนเอาเส้นเอ็นส่วนอื่นมาทดแทนเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าที่เกิดความเสียหาย แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดในด้านความเจ็บปวดและระยะเวลาการฟื้นตัว โดยจะนำเส้นเอ็นที่ได้รับจากการบริจาคร่างกายมาใช้งาน หรือบางครั้งก็มีการใช้เอ็นสังเคราะห์บางชนิดมาทดแทน

 

          นี่เองจึงเป็นข้อจำกัดด้วยจำนวนเส้นเอ็นที่ได้รับบริจาคหลายครั้งมีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งนอกจากการปลูกถ่ายจะสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมากแล้ว เส้นเอ็นทั้งสองชนิดที่ถูกนำมาปลูกถ่ายมีความแข็งแรงไม่เพียงพอ แม้ได้รับการรักษาเต็มรูปแบบเข่าก็ยังไม่สามารถกลับมาแข็งแรงดังเดิม ดับฝันอนาคตของนักกีฬาไปไม่น้อย

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงเริ่มแนวคิดในการมองหาเส้นเอ็นชนิดอื่นมาทดแทน หนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับการเสนอชื่อคือ เส้นเอ็นจิงโจ้ ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งในการปฏิวัติแนวทางการแพทย์ที่เคยมี อาจช่วยซ่อมแซมเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าให้หายดี และกลับมาทำงานได้ดังเดิม

 

          แต่การนำเส้นเอ็นสัตว์ชนิดอื่นมาใช้ย่อมทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย

 

การรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าแบบใหม่ด้วยเส้นเอ็นจิงโจ้

 

การใช้เส้นเอ็นจิงโจ้ทดแทน เรื่องเป็นไปไม่ได้ที่กำลังจะเป็นจริง

 

          การนำเส้นเอ็นจิงโจ้หรืออวัยวะสัตว์มาใช้งานทดแทนย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามหลายด้าน แม้แนวคิดในการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่ร่างกายมนุษย์จะไม่ใช่ของใหม่ อย่างการปลูกถ่ายไตให้แก่ผู้ป่วยสมองตาย หรือการปลูกถ่ายหัวใจให้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจอาการหนัก แต่ด้วยการเสียชีวิตในอีก 2 เดือนหลังรับการผ่าตัด นี่จึงยังเป็นส่วนที่น่าตั้งคำถามอยู่มาก

 

          จริงอยู่การใช้งานกับอวัยวะภายในอาจเป็นเรื่องยากแต่กับอวัยวะบางรูปแบบมีการใช้งานที่มีอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

 

          Xenografts ถูกใช้งานในแวดวงทันตกรรมสำหรับทดแทนกระดูกฟัน โดยอาศัยกระดูกสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์มาปลูกถ่าย แม้กระบวนการนี้ต้องเป็นสัตว์ที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมมาโดยเฉพาะ อีกทั้งยังต้องผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อเป็นพิเศษก็จริง แต่จะเห็นได้ว่าการปลูกถ่ายชิ้นส่วนสัตว์สู่ร่างกายไม่ใช่เรื่องใหม่

 

          จุดเด่นสำคัญของการปลูกถ่ายเอ็นข้อไขว้หน้าข้อเข่าด้วยเอ็นจิงโจ้คือ ผู้ที่ได้รับการรักษามีแนวโน้มหายดีและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง ด้วยพื้นฐานของเส้นเอ็นจิงโจ้ที่มีความทนทานเหนือกว่าเส้นเอ็นของมนุษย์ถึง 6 เท่า นี่จึงเป็นวัสดุชั้นเยี่ยมที่จะนำไปใช้ในการรักษา และจะเป็นเส้นเอ็นใหม่ที่สามารถปรับเข้าหาร่างกายได้ไม่ยาก

 

          สำหรับการปลูกถ่ายหลายท่านอาจรู้สึกกังวลการปฏิเสธอวัยวะอยู่บ้าง แต่ทีมวิจัยยืนยันว่าพวกเขามีกรรมวิธีปลูกถ่ายและดูแลรักษาที่ป้องกันเรื่องพวกนี้โดยสมบูรณ์ ช่วยให้ร่างกายของเราไม่ปฏิเสธเส้นเอ็นจิงโจ้ที่ได้รับการปลูกถ่าย สามารถกลับมาเล่นกีฬาและใช้ชีวิตได้ดังเดิม ถือเป็นตัวเลือกน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

 

          ส่วนที่หลายคนอาจตั้งคำถามคือ จิงโจ้ที่นำเส้นเอ็นมาใช้งานมาจากไหน ในส่วนนี้ทางทีมวิจัยยืนยันว่า ชิ้นส่วนเอ็นจิงโจ้ทั้งหมดที่นำมาใช้งานตลอดขั้นตอนการวิจัย เป็นชิ้นส่วนที่ได้รับจากอุตสาหกรรมการล่าจิงโจ้อย่างถูกกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย และเป็นชิ้นส่วนที่ถูกทิ้งเพราะไม่ได้รับการใช้ประโยชน์ จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อจิงโจ้ที่มีชีวิต

 

          นี่จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ที่อาจช่วยรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดให้หายอย่างถาวร

 

 

 

          ปัจจุบันการวิจัยปลูกถ่ายเส้นเอ็นจิงโจ้เพื่อรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดใกล้เสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถจัดเตรียมข้อมูลและพร้อมเริ่มการทดลองทางคลินิกภายในปี 2024 นี่จึงไม่ใช่แนวทางรักษาห่างไกลอย่างที่หลายท่านคิด แต่อาจพร้อมให้เรามาใช้งานเชิงการแพทย์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

          ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นมนุษย์ที่มีเส้นเอ็นจิงโจ้ภายในเข่าโลดแล่นอยู่วงการกีฬาก็เป็นได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://apnews.com/article/science-health-university-of-maryland-heart-transplants-8d615a31b455a8e36d3b6896ebe8813a

 

          https://bangkokdental.com/oral-surgery/bonegrafts/

 

          https://www.brandthink.me/content/hunt-kangaroos

 

          https://newatlas.com/biology/kangaroo-tendons-acl-surgery/

 

          https://interestingengineering.com/science/kangaroo-tendons-ideal-replacement-for-damaged-human-ligaments