posttoday

ภาวะโลกเดือด กับอันตรายถึงชีวิตในอุณหภูมิ 30 องศา

21 สิงหาคม 2566

การประกาศสิ้นสุดภาวะโลกร้อนสู่ ภาวะโลกเดือด คือผลกระทบทางสภาพอากาศที่ชัดเจน ตั้งแต่ภัยธรรมชาติไปจนคลื่นความร้อน ร้ายไปกว่านั้นผลการวิจัยพบว่า ด้วยระดับอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสขึ้นไปก็อาจเป็นอันตรายกับมนุษย์ได้เช่นกัน

ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายท่านย่อมต้องได้ยินกันมาแล้ว เมื่อ องค์การสหประชาชาติ(UN) ออกประกาศว่า ภาวะโลกร้อนกำลังจะสิ้นสุด ไม่ได้มาจากความตั้งใจเปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพอากาศ หรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่เป็นเพราะเรากำลังเข้าสู่ ภาวะโลกเดือด ต่างหาก

 

          ส่วนนี้เริ่มส่งผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ไม่จำกัดเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งแต่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ส่วนที่สามารถเล็งเห็นได้ชัดเจนที่สุดคืออุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูง นำไปสู่ความแปรปรวนของธรรมชาติและสภาพแวดล้อมส่งผลกระทบในหลายระดับ

 

          นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้มีการประกาศออกมาว่า เดือนกรกฎาคมปี 2023 ถือเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี

 

ภาวะโลกเดือด กับอันตรายถึงชีวิตในอุณหภูมิ 30 องศา

 

โลกเดือดกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม

 

          ข้อมูลส่วนนี้มาจากองค์กร NASA ภายใต้การติดตามตรวจวัดอุณหภูมิจากสถานีตรวจอากาศนับหมื่นแห่ง เพื่อตรวจสอบไปจนเก็บรวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสภาพอากาศทั่วโลก ก่อนพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมปี 2023 นี้ ถือเป็นเดือนที่ซีกโลกเหนือร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี

 

          ในพื้นที่ในแถบซีกโลกเหนือเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงฤดูร้อน ถือเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุดในรอบปีก็จริง แต่จากผลสำรวจของ NASA พบว่า อุณหภูมิเดือนกรกฎาคม 2023 สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาถึง 1.18 องศาเซลเซียส และสูงกว่าสถิติเก่าในปี 2019 จนกลายเป็นเดือนที่ร้อนสุดในโลกไปโดยปริยาย

 

          ส่วนนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากหน่วยงาน องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ(NOAA) นอกจากอุณหภูมิค่าเฉลี่ยพุ่งสูงทะลุสถิติในศตวรรษที่ 20 ติดต่อกันยาวนาน 47 เดือน ยังส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิน้ำในทะเล ซึ่งจะไปซ้ำเติมปัญหาน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นอีก

 

          อันที่จริงหลายคนเองก็เริ่มจะรับรู้ปัญหา จากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ส่งผลมากขึ้นทุกวัน ตั้งแต่ความผันผวนทางสภาพอากาศ, ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ไปจนภัยธรรมชาติทวีความรุนแรง ที่เห็นได้ชัดที่สุดในช่วงนี้คือ ไฟป่า ที่กำลังสร้างปัญหาทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทยที่กำลังประสบภัยแล้งจาก เอลนิโญ เช่นกัน

 

          สำหรับคนทั่วไปนอกจากภัยธรรมชาติ อีกส่วนที่น่าจะเห็นภาพและผลกระทบได้ชัดเจนคือ คลื่นความร้อน สำหรับในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนอยู่ก่อนอาจไม่เห็นผลนัก แต่ในต่างประเทศเราเริ่มเห็นข่าวผลกระทบจากคลื่นความร้อน นำไปสู่การเกิดผู้เสียชีวิตนับร้อย นี่จึงถือเป็นภัยเงียบที่เราไม่อาจละเลยอีกต่อไป

 

          ถึงตรงนี้ย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามว่า อุณหภูมิเท่าใดจึงจัดให้อยู่ในระดับอันตราย? วันนี้เราจึงจะมาหาคำตอบกัน

 

ภาวะโลกเดือด กับอันตรายถึงชีวิตในอุณหภูมิ 30 องศา

 

ระดับอุณหภูมิที่เริ่มส่งผลกระทบต่อมนุษย์

 

          ข้อมูลส่วนนี้มาจากทีมวิจัยของ Jet Propulsion Laboratory แห่ง NASA ภายใต้ข้อมูลอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน นำไปสู่การเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินระดับอุณหภูมิที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ก่อนพบว่าในระดับความชื้นที่สูงพอ เพียงอาศัยอยู่ในระดับอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ก็อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

 

          เราทราบกันดีว่าแนวทางระบายความร้อนลดอุณหภูมิภายในร่างกายเกิดขึ้นจากการขับเหงื่อ ถือเป็นกลไกที่ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิในร่างกายไม่สูงจนเกินไป ซึ่งจะทำงานโดยการขับความร้อน ของเหลว และแร่ธาตุออกไปพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้เมื่ออยู่ในอากาศร้อนเป็นเวลานาน ร่างกายจึงอาจเข้าสู่ภาวะขาดน้ำจนเกิดอาการ ลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ในที่สุด

 

          นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ในกรณีที่ไม่สามารถขับเหงื่อได้ ร่างกายของคนเราจะทนระดับอุณหภูมิได้เท่าไหร่?

 

          ส่วนนี้หลายท่านอาจนึกถึงกรณีพื้นที่แห้งแล้ง ทุรกันดาร หรือคนที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอเป็นหลัก แต่อันที่จริงอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของกลไกนี้คือ ความชื้นในอากาศ ในกรณีที่ความชื้นในอากาศอิ่มตัวถึงขีดสุด ต่อมเหงื่อภายในร่างกายจะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเหงื่อและความร้อนออกมาได้จนเป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพอากาศร้อนจัดในปัจจุบัน

 

          ข้อมูลจากผลการคำนวณภายใต้ อุณหภูมิกระเปาะเปียก การวัดอุณหภูมิจากอากาศที่มีความชื้นอิ่มตัวถึงขีดสุดพบว่า ในกรณีที่กลไกระบายความร้อนของร่างกายไม่ทำงาน หากอยู่ภายใต้อากาศร้อนชื้นสูงอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ระดับความร้อนสะสมก็เพียงพอจะทำให้เสียชีวิต อีกทั้งยิ่งอุณหภูมิสูงระดับความชื้นในอากาศที่ต้องการก็ยิ่งน้อย ในอุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส เพียงระดับความชื้นในอากาศอยู่ที่ 50% ก็เพียงพอจะทำให้เกิดอันตราย

 

          แต่ล่าสุดภายใต้การวิจัยและทดสอบกับหนุ่มสาวสุขภาพดี ในระดับความชื้นสูงเพียงระดับอุณหภูมิ 30.6 องศาเซลเซียส หากไม่สามารถระบายความร้อนได้ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และภายในระยะเวลาราว 5 – 7 ชั่วโมงก็มากพอจะสร้างผลกระทบที่เป็นอันตรายได้เช่นกัน

 

          นี่จึงเป็นเรื่องน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เราต่างทราบดีว่าระดับอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิหลายพื้นที่ในโลกพุ่งสูงเกินระดับ 30 องศาเซลเซียสไปไกล เมื่อรวมกับภัยธรรมชาติและความผันผวนทางสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพที่เราจำเป็นต้องหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน

 

ภาวะโลกเดือด กับอันตรายถึงชีวิตในอุณหภูมิ 30 องศา

 

 

          ข้อสงสัยเกี่ยวกับระดับความร้อนที่เป็นอันตราย

 

          ถึงตรงนี้อาจนำไปสู่ข้อสงสัยต่อหลายท่าน สำหรับประเทศเขตร้อนหลายแห่งอุณหภูมิระดับ 30 องศาเซลเซียสถือเป็นอุณหภูมิตามปกติ ในไทยเองก็เคยอุณหภูมิพุ่งไปแตะระดับ 40 องศาเซลเซียสอยู่หลายครั้งต่อปี แต่ก็ไม่ได้มีรายงานผู้เสียชีวิตเท่าที่กล่าวอ้าง ย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามว่าข้อมูลนี้เชื่อถือแค่ไหน?

 

          ส่วนหนึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนคือ ไทยถือเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นตั้งแต่ต้น อีกทั้งประชาชนต่างคุ้นเคยกับอากาศร้อนเป็นทุน เรามีมาตรการและอุปกรณ์รับมือระดับอุณหภูมิสูงหลากหลาย ตั้งแต่พัดลมไปจนเครื่องปรับอากาศ ทำให้ผลกระทบที่เกิดต่อคนในประเทศไม่ร้ายแรงเท่าประเทศในเขตหนาว

 

          อย่างไรก็ตามเราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าระดับอุณหภูมิสูงเองก็ส่งผลกระทบต่อคนในประเทศ อีกทั้งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ NASA ประเทศในเขตร้อนแม้จะมีระดับอุณหภูมิพุ่งสูงในหลายครั้งต่อปี แต่ระดับความชื้นในอากาศยังไม่มากพอก่อให้เกิดอันตราย เหตุการณ์ที่ระดับอุณหภูมิสูงเกินภายใต้อุณหภูมิกระเปาะเปียก ถึงจะพบได้อยู่บ้างแต่แทบไม่มีเหตุการณ์ที่กินเวลานานเกิน 2 ชั่วโมงมาก่อน จึงยังไม่เห็นผลกระทบทางสุขภาพรุนแรงนัก

 

          นั่นคือข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจนปัจจุบัน แต่เราเองก็ทราบดีว่าโลกเราร้อนขึ้นทุกวัน ถึงขั้นได้รับการประกาศเป็นภาวะโลกเดือด อุณหภูมิทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นจนอาจเพิ่มมากกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 2.5 องศาเซลเซียส นั่นยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์เหล่านี้พุ่งสูง

 

          นอกจากนี้การทดสอบเกิดขึ้นภายใต้กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นสุขภาพดี แต่ในสถานการณ์จริงผลกระทบอาจยิ่งร้ายแรงต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งคนที่มีโรคประจำตัวที่อาจเกิดผลกระทบมากขึ้น, เด็กเล็กที่มีข้อจำกัดในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย หรือผู้สูงอายุที่ต่อมเหงื่อน้อยและทำงานได้ไม่เต็มที่ มีแนวโน้มที่จะเกิดความเจ็บป่วยจนนำไปสู่การเสียชีวิตสูงขึ้น

 

          ส่วนนี้สามารถสังเกตเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในยุโรป ที่ผู้เสียชีวิตกว่า 90% ล้วนเป็นกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แม้แต่ในประเทศเขตร้อนอย่างไทยเอง ด้วยระดับอุณหภูมิพุ่งสูงแตะระดับ 50 องศาเซลเซียส ทำให้ในฤดูร้อนมีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกเฉลี่ยปีละ 43 คนเช่นกัน

 

 

 

           นี่เองจึงเป็นเหตุผลให้เราไม่สามารถละเลยอากาศร้อนอีกต่อไป การปรับอากาศให้สามารถอยู่อาศัยได้จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องเริ่มหันหน้ารับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมและแก้ไขภาวะโลกร้อนเต็มตัว เพื่อป้องกันผลกระทบไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้

 

          ด้วยในอนาคตแม้แต่ประเทศไทยก็อาจจะมีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกจำนวนมากก็เป็นได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.thaipbs.or.th/news/content/326336

 

          https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1083663

 

          https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/573530

 

          https://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2555/enen41255mf_ch2.pdf

 

          https://www.sciencealert.com/scientists-identify-the-maximum-heat-limit-the-human-body-can-take

 

          https://www.nasa.gov/press-release/nasa-clocks-july-2023-as-hottest-month-on-record-ever-since-1880/

 

          https://www.noaa.gov/news/record-shattering-earth-had-its-hottest-july-in-174-years