posttoday

การบริหารน้ำท่วมของจีนสร้างความโกรธแค้นให้ผู้ได้รับผลกระทบ

07 สิงหาคม 2566

ประชาชนเกือบ 1 ล้านคนในมณฑลเหอเป่ย์ ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานหลังจีนเกิดฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ ทำให้ทางการต้องผันน้ำออกจากแม่น้ำไปยังบางพื้นที่เพื่อลดความเสียหายซึ่งอาจเกิดขึ้นกับเมืองหลวง ขณะที่โลกออนไลน์วิจารณ์หนักต่อการสละพื้นที่บางส่วนเพื่อช่วยปักกิ่ง

ลุ่มแม่น้ำไห่เหอทางตอนเหนือของจีน มีพื้นที่ขนาดใหญ่พอๆกับประเทศโปแลนด์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเหอเป่ย ปักกิ่ง และเทียนจิน โดยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เพียงระยะเวลา 1 สัปดาห์ ภูมิภาคที่มีประชากรรวม 110 ล้านคนต้องประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี  โดยมณฑลเหอเป่ย์ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางกฎหมายในการจัดการปัญหาน้ำท่วมของจีนนั้นระบุว่า หากอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นปราการด่านแรก มีปริมาณน้ำเกินกว่าความจุ จะต้องระบายน้ำชั่วคราวไปยัง “พื้นที่ชะลอน้ำและแหล่งเก็บกั​กน้ำท่วม (flood storage areas)” ซึ่งรวมถึงพื้นที่ราบที่มีประชากรอาศัยอยู่

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม มณฑลเหอเป่ยได้เปิดพื้นที่กักเก็บน้ำท่วม 7 แห่งจากทั้งหมด 13 แห่ง ซึ่งรวมถึง 2 แห่งในจัวโจว เมืองเป่าติ้ง ทางตอนใต้ของปักกิ่งและทางเหนือของเขตเศรษฐกิจใหม่สยงอัน  ซึ่งเป็นเขตที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตั้งเป้าให้เป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของเหอเป่ย ปักกิ่ง และ เทียนจิน

ขณะที่ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายหนี่ หยูเฟิง (Ni Yuefeng) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมณฑลเหอเป่ย ชี้ว่าเขตสยงอันเป็นพื้นที่สำคัญสูงสุดสำหรับการป้องกันอุทกภัย โดยปักกิ่งควรสร้าง "คูเมือง" เพื่อลดความรุนแรงต่อการเกิดอุทกภัย

เหตุอุทกภัยในจีน ซึ่งใช้พื้นที่ในมณฑลเหอเป่ย์เป็นพื้นที่รับน้ำ ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยหลายส่วนเลือกที่จะแสดงความโกรธเกรี้ยวลงบนโลกออนไลน์ และชี้ว่าปักกิ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะที่ในจัวโจว เมืองเป่าติ้ง ประชากรจำนวนมากไม่เคยทราบมาก่อนว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่เก็บกั​กน้ำท่วม 

ทั้งนี้ รัฐบาลเป่าติ้งเผยว่า ปริมาณฝนที่ตกหนักทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 67 แห่งจากทั้งหมด 83 แห่งในเป่าติ้งเอ่อล้น ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 10 แห่งเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับอันตราย