posttoday

นักวิจัยเผย ยอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในยุโรปอาจทะลุ 61,000 คน

11 กรกฎาคม 2566

งานวิจัยใหม่เผยว่า ปีที่แล้วยอดผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในยุโรปอาจสูงถึง 61,000 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเตรียมพร้อมรับมือของประเทศต่างๆยังไม่เพียงพอ

การศึกษาโดยนักวิจัยจากสถาบันสุขภาพยุโรปประเมินว่า อาจมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากกว่า 61,600 คนใน 35 ประเทศทั่วยุโรป ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่ยุโรปร้อนสุดเป็นประวัติการณ์

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine เมื่อวันจันทร์ พบว่าประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น กรีซ อิตาลี โปรตุเกส และสเปน มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเมื่อพิจารณาจากขนาดประชากร

Joan Ballester ผู้ร่วมวิจัยและศาสตราจารย์แห่งสถาบันสุขภาพ Barcelona Institute for Global Health ระบุว่า “พื้นที่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ขณะที่คลื่นความร้อนจะแผ่ขยายมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากสภาพอากาศมีความแห้งกว่าปกติ” 

ในช่วงฤดูร้อนที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปได้รับผลกระทบจากไฟป่าและภัยแล้งอย่างรุนแรง อุณหภูมิเฉลี่ยของโปรตุเกสแตะระดับสูงสุดที่ 47 องศาเซลเซียสในเดือนกรกฎาคม แต่ยังถือว่าต่ำกว่าอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดที่ประเทศเคยบันทึกไว้ ณ  47.3 องศาเซลเซียสในปี 2003

ขณะที่ใน อิตาลีมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดที่ 18,010 ราย  สเปน 11,324 ราย และเยอรมนี  8,173 ราย

ทั้งนี้ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จากฝีมือมนุษย์ ความถี่ของการเกิดคลื่นความร้อนจึงปรากฎบ่อยขึ้น รวมถึงมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ อากาศร้อนจัดสามารถทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้จากการทำให้เกิดโรคลมแดด โรคหลอดเลือดหัวใจและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ รวมทั้งฝรั่งเศสได้เริ่มใช้แผนเพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด หลังจากในปี 2003 ยุโรปต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนระดับรุนแรงมาแล้ว โดยมีการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองต่างๆให้มากขึ้น

แต่นักวิจัยระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตในปีที่แล้วซึ่งมีจำนวนที่สูงขึ้น เป็นข้อบ่งชี้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวยังขาดประสิทธิภาพ ประเทศต่างๆควรทบทวนแผนรับมือของตนให้ดีและควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนีได้เริ่มแผนดำเนินงานเพื่อรับมือกับอากาศร้อนจัด ไม่ว่าจะเป็น  เพิ่มการคุ้มครองคนไร้บ้าน หรือปรับมาตรการต่างๆ เช่น จัดหาน้ำดื่มในที่สาธารณะให้มากขึ้น