posttoday

ปรากฎการณ์ Algae Bloom ทำพิษ สิงโตทะเลป่วยเกลื่อนหาด

28 มิถุนายน 2566

สิงโตทะเลและลูกๆของมันกำลังเข้ารับการรักษาร่วมกับสัตว์อื่นๆ อีกหลายสิบตัวที่ศูนย์ดูแลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นผลจากปรากฎการณ์ Algae Bloom หรือการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของสาหร่ายในแหล่งน้ำ ที่เป็นพิษต่อระบบประสาทของสัตว์

นักชีววิทยาทางทะเลกำลังให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด เพราะพวกเขาถือว่าสิงโตทะเลเป็นสปีชีส์ที่ต้องเฝ้าระวัง (sentinel species) ซึ่งเป็นสัตว์ที่ช่วยระบุความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมต่อมนุษย์ได้

ทางด้าน John Warner ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่า “ในสัปดาห์แรก เรามีสัตว์ป่วยอยู่ 12 ตัว จากนั้นในสัปดาห์ต่อมา เรามีเพิ่มขึ้นอีก 60 ตัว มันเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว” 

ศูนย์แห่งนี้เป็นหนึ่งในหลายองค์กรของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ช่วยดูแลสัตว์ให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรงอีกครั้ง

ขณะที่ สถาบันทางทะเลและสัตว์ป่าหมู่เกาะแชนเนลรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 14 มิถุนายน มีสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมล้มป่วยและตายไปแล้วมากถึง 1,000 ตัว

ปรากฎการณ์ Algae Bloom หรือการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของสาหร่ายในแหล่งน้ำ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดสารพิษต่อระบบประสาทที่เรียกว่ากรดโดโมอิก 

อย่างไรก็ตาม สาหร่ายยังสามารถแพร่พันธุ์ได้จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และไนเตรตที่ถูกชะลงทะเลมากเกินไป โดยเหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนีย 5 ครั้งตั้งแต่ปี 2002 

ปลาตัวเล็กที่ได้รับสารพิษจากการกิน จะส่งต่อสารพิษเหล่านี้เป็นทอดๆตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งมนุษย์จะไม่ได้รับผลกระทบเว้นแต่จะกินหอยที่ติดเชื้อเข้าไป

โดยปกติแล้ว สิงโตทะเล มักอาศัยอยู่ตามชายหาดหลายแห่งในแคลิฟอร์เนีย พวกมันชอบนอนอาบแดด และบางครั้งก็ขออาหารจากนักท่องเที่ยว แต่สิงโตทะเลที่มีอาการป่วย จะโยกศีรษะไปมา มีน้ำลายฟูมปาก มีอาการชัก หรือบางตัวอาจนอนแน่นิ่งไป ส่วนลูกสิงโตที่มีอาการป่วย ส่วนใหญ่มักได้รับสารพิษผ่านน้ำนมแม่

ทั้งนี้ ทางศูนย์ระบุว่าพวกมันจะอยู่ที่ศูนย์ดูแลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมไปอีก 30 ถึง 60 วันก่อนจะถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ