posttoday

อุณหภูมิโลกส่อแววร้อนขึ้น จากการกลับมาของเอลนีโญ

21 เมษายน 2566

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศชี้ว่า โลกอาจทำลายสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยใหม่ในปี 2023 หรือ 2024 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ

แบบจำลองภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิโลกลดต่ำลงเล็กน้อย หลังจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 3 ปี และจะกลับคืนสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้น

ในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ ลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรจะพัดช้าลง และกระแสน้ำอุ่นจะถูกผลักไปทางทิศตะวันออก ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น

Carlo Buontempo  ผู้อำนวยการองค์การ Copernicus Climate ของสหภาพยุโรป กล่าวว่า "ปกติแล้วปรากฏการณ์เอลนีโญจะทุบสถิติอุณหภูมิในระดับโลกอยู่แล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2023 หรือ 2024 แต่โอกาสเกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง”

แบบจำลองสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะกลับมาช่วงปลายฤดูร้อนทางตอนเหนือ และมีความเป็นไปได้ที่จะรุนแรงขึ้นช่วงปลายปี 

จนถึงตอนนี้ ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์คือปี 2016 ซึ่งตรงกับช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้อุณหภูมิโลกยิ่งสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นจะไม่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญก็ตาม

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมานับเป็น 8 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก ซึ่งสะท้อนถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลในระยะยาว โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ

Friederike Otto อาจารย์อาวุโสของสถาบัน Grantham Institute ของ Imperial College London กล่าวว่าอุณหภูมิที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ  อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงและส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่กำลังประสบภัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า

ปัจจุบัน อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยมีระดับที่สูงกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ของโลกจะให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซสุทธิให้เหลือศูนย์ แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปีที่แล้วยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง