posttoday

UN จะเริ่มรับคำขออนุญาตทำเหมืองใต้ทะเลกรกฎาคมนี้

01 เมษายน 2566

องค์กรพื้นสมุทรระหว่างประเทศ (International Seabed Authority-ISA) จะเริ่มรับใบคำขออนุญาตจากบริษัทต่างๆ ที่ต้องการทำเหมืองใต้พื้นมหาสมุทรในเดือนกรกฎาคม

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากหน่วยงานของสหประชาชาติใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ในการพิจารณาถึงมาตรฐานสำหรับแนวทางปฏิบัติใหม่

หลักๆแล้วการทำเหมืองใต้ทะเลลึกจะสกัดเอาแร่โคบอลต์ ทองแดง นิกเกิล และแมงกานีส ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่ ออกจากก้อนโพลีเมทัลลิกหรือก้อนแร่โลหะสารพัดชนิด (Polymetallic Nodules) ซึ่งอยู่ใต้มหาสมุทรที่ความลึก 4 ถึง 6 กม. และเป็นแร่ที่มีอยู่มากในเขต Clarion-Clipperton (CCZ) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือระหว่างฮาวายและเม็กซิโก

ISA ได้จัดทำร่างหลังการประชุมในจาเมกาเสร็จสิ้น ซึ่งอนุญาตให้บริษัทต่างๆ ยื่นคำขออนุญาตได้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งเป็นเส้นตายที่กำหนดโดยการดำเนินการของประเทศเกาะนาอูรูในปี 2021 โดยเจ้าหน้าที่ของ ISA จะมีเวลาสามวันทำการในการแจ้งให้สภาทราบ

อย่างไรก็ตาม ทางสภาของ ISA วางแผนที่จะจัดการประชุมเสมือนจริงก่อนเดือนกรกฎาคมเพื่อหารือเพิ่มเติมว่าการอนุมัติใบสมัครดังกล่าวจะเกิดความล่าช้าหลังรับเอกสารหรือไม่

ขณะเดียวกัน Louisa Casson จากกลุ่ม Greenpeace องค์การสาธารณประโยชน์ (NGO) ซึ่งต่อต้านแนวทางดังกล่าวเนื่องจากกังวลว่าอาจเป็นอันตรายต่อวาฬและสัตว์ชนิดอื่นๆ ให้ความเห็นว่า  “ผลการดำเนินงานนี้เป็นเรื่องที่ขาดความรับผิดชอบอย่างหาที่สุดไม่ได้และใช้โอกาสสิ้นเปลืองที่จะชี้ว่ายุคแห่งการทำลายล้างในมหาสมุทรจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ”

บริษัท The Metals Co ซึ่งมีข้อตกลงในการจัดหาโลหะให้กับ Glencore Plc  ถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนแนวทางทำเหมืองใต้พื้นมหาสมุทรที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งทางผู้บริหารของบริษัทกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าพวกเขาเชื่อว่าการทำเหมืองใต้ท้องทะเลลึกจะมีผลกระทบน้อยกว่าการทำเหมืองโลหะแบตเตอรี่แบบดั้งเดิมที่มักดำเนินงานบนพื้นดิน

ทั้งนี้ ประเทศจีนถือเป็นผู้นำในการสำรวจเหมืองแร่ใต้ท้องทะเลลึก ขณะที่ทางฝั่งชิลี ฝรั่งเศส ปาเลา และฟิจิ รวมถึงประเทศอื่นๆ ได้เรียกร้องให้ทั่วโลกยุติการกระทำดังกล่าว โดยอ้างถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม