posttoday

นานาชาติเริ่มเปลี่ยนใจ เล็งใช้วัคซีนจำกัดไข้หวัดนก

23 กุมภาพันธ์ 2566

รัฐบาลจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกให้กับสัตว์ในฟาร์ม เพราะมองว่าการจำกัดพื้นที่สัตว์ไว้แค่ในฟาร์ม ไม่สามารถป้องกันพวกมันจากการติดเชื้อไข้หวัดนกได้

 

นับตั้งแต่การระบาดของไข้หวัดนกในปี 2015 Herve Dupouy เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดชาวฝรั่งเศสได้ฆ่าฝูงเป็ดของเขาไปถึง4ครั้งเพื่อลดจำนวนเป็ดในฟาร์มลงและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด แต่เมื่อในปัจจุบันการระบาดของไข้หวัดนกเริ่มรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เขาจึงตัดสินใจว่าว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับวิธีแก้ปัญหาที่เคยถือเป็นข้อห้ามมาก่อน นั่นก็คือการฉีดวัคซีน

Herve Dupouy กล่าวว่า “เป้าหมายในตอนนี้คือทำให้สัตว์ของเราไม่ป่วยและไม่แพร่เชื้อ”

อุตสาหกรรมการค้าสัตว์ปีกและส่งออกไข่รายใหญ่ของโลก ตลอดจนผู้ผลิตวัคซีนต่างให้ความเห็นว่า จากความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในปีนี้ แนวทางการฉีดวัคซีนทั่วโลก มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐฯ จะยังไม่เต็มใจที่จะนำวัคซีนดังกล่าวเข้ามาปรับใช้ก็ตาม

นอกจากค่าใช้จ่ายในการกำจัดสัตว์ปีหลายล้านตัวแล้ว ในหมู่นักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าหากไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ โอกาสที่จะแพร่เชื้อสู่มนุษย์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น

นานาชาติเริ่มเปลี่ยนใจ เล็งใช้วัคซีนจำกัดไข้หวัดนก

“มันเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต่างก็กังวล แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนก เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีการนำวัคซีนเข้ามาใช้ และเร่งอัตราการฉีดให้ครอบคลุมทุกประเทศ” Marc Fesneau รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสกล่าว

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ค้าสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกจะต่อต้านการฉีดวัคซีนเนื่องจากกังวลว่าอาจปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกและกระทบต่อการส่งออกไปยังประเทศที่แบนการฉีดวัคซีนเพราะมองว่าสัตว์ที่ติดเชื้ออาจเล็ดรอดเข้าสู่ประเทศได้

องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วไข้หวัดนกได้ลดจำนวนประชากรสัตว์ในฟาร์มไปแล้วทั่วโลก และทำให้นกตายมากกว่า 200 ล้านตัว ซึ่งการที่สัตว์ถูกลดจำนวนลงมากขนาดนี้ ย่อมส่งผลให้ราคาไข่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลก