posttoday

หนึ่งปีผ่านไปกับผลกระทบที่ยังอยู่ หลังภูเขาไฟตองกาปะทุเดือด

22 มกราคม 2566

หนึ่งปีหลังภูเขาไฟตองกาใต้มหาสมุทรแปซิฟิกปะทุครั้งใหญ่ น่านน้ำชายฝั่งของตองกายังเผชิญกับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

การปะทุของ “ภูเขาไฟตองกา” ใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ถือว่าเป็นการปะทุที่รุนแรงที่สุดของโลกในรอบ 30 ปี ทั้งควันเถ้าถ่านภูเขาไฟ แก๊ส และไอน้ำพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงกว่า 20 กิโลเมตร ประกอบกับแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำ ที่ทำให้ประเทศตามแนวชายฝั่งต้องเผชิญกับคลื่นสึนามิครั้งใหญ่ ขณะที่แนวปะรังถูกทำลาย และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลต่างได้รับผลกระทบ

ภัยพิบัติดังกล่าวทำให้สถานการณ์ในตองกายิ่งแย่ลง เนื่องจากประชากรมากกว่า 80% ยังต้องยังชีพจากการทำประมงชายฝั่ง ตามข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ปี 2019 หลังการปะทุรัฐบาลตองการะบุว่าต้องใช้เงินกว่า 240 ล้านดอลลาร์ สำหรับการฟื้นฟูและการปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งหลักจากนั้นไม่นาน  ธนาคารโลกได้เสนอเงินให้กับตองการาว 8 ล้านดอลลาร์

Poasi Ngaluafe หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ของกระทรวงประมงตองกากล่าวว่า “สำหรับแผนฟื้นฟู เรากำลังรอเงินทุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับการประมงของชุมชนชายฝั่ง”

ตองกาเป็นประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมหาสมุทร ขณะที่การประมงเชิงพาณิชย์มีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศเพียง 2.3% ดังนั้นการประมงเพื่อยังชีพถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปากท้องของประชากร ขณะที่นักวิทยาศาสตร์มองว่าผลกระทบจากการปะทุของภูเขาไฟทำให้ดินในตองกาเป็นพิษเกินกว่าจะเพาะปลูกพืชได้

ส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของแนวปะการังที่แข็งแรงและอุดมสมบูรณ์กลับแห้งแล้ง มิหนำซ้ำแนวปะการังใหม่ๆยังไม่สามารถเติบโตได้ในจุดที่มีการปะทุ นอกจากนี้เถ้าภูเขาไฟที่ปกคลุมตามแนวปะการังยังส่งผลให้ปลาขาดแหล่งอาหารและพื้นที่วางไข่ 

ในส่วนของชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์กำลังพิจารณาผลกระทบของการปะทุจากการพ่นเถ้าถ่านและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมา ซึ่งสามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศและกักเก็บความร้อยได้นานหลักทศวรรษ ทั้งยังส่งผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อน