posttoday

ยุงดื้อยาในเอเชียเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงมากขึ้น

15 มกราคม 2566

งานวิจัยใหม่จากญี่ปุ่นเตือนว่า ยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออกและไวรัสชนิดอื่นๆ ได้พัฒนาให้เกิดการดื้อต่อยาฆ่าแมลงในหลายพื้นที่ของเอเชีย และวิธีการใหม่ๆ ในการควบคุมพวกมันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

แม้หน่วยงานสาธารณสุขมักจะพ่นหมอกควันยาฆ่าแมลงในบริเวณที่มียุงชุกชุม และการดื้อยาเป็นเรื่องที่น่ากังวลมานานแล้ว แต่ปัญหาดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้น  Shinji Kasai ผู้อำนวยการภาควิชากีฏวิทยาทางการแพทย์แห่งสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น และทีมของเขาได้ตรวจสอบยุงจากหลายประเทศในเอเชียรวมถึงกานา ระหว่างปี 2016-2019  พบว่าเกิดการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยุงทนทานต่อสารเคมีบางชนิดที่มีส่วนผสมของ pyrethroid ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น permethrin มากขึ้น

Kasai ระบุว่า ในกัมพูชา ยุงลาย Aedes aegypti มากกว่าร้อยละ 90 มีการกลายพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการดื้อยาในระดับที่สูงมาก โดยพบว่ายุงบางสายพันธุ์มีความต้านทาน 1,000 เท่า เทียบกับ 100 เท่าที่พบก่อนหน้านี้ นั่นหมายถึงระดับยาฆ่าแมลงที่ปกติจะฆ่ายุงได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มตัวอย่าง จะฆ่าแมลงได้เพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แม้แต่ปริมาณที่แรงกว่า 10 เท่าก็สามารถฆ่ายุงที่ดื้อยาได้เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ระดับการดื้อยาที่เราพบในยุงในกัมพูชาและเวียดนามนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกประมาณ 100 ถึง 400 ล้านคนต่อปี แม้ว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยจะไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการก็ตาม มีการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกหลายตัว และนักวิจัยยังใช้แบคทีเรียที่ฆ่าเชื้อยุงเพื่อจัดการกับไวรัส แต่ยังไม่มีทางเลือกใดที่ใกล้เคียงกับการกำจัดไข้เลือดออก และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ซึ่งเป็นพาหะนำโรคอื่นๆ รวมถึงซิกาและไข้เหลืองให้หมดลงได้

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า กลยุทธ์ที่ใช้โดยทั่วไปอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป เนื่องจากมีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สูตรยาฆ่าแมลงในปัจจุบันได้ผลน้อยลงในการควบคุมประชากรยุง เจ้าหน้าที่และนักวิจัยจำเป็นต้องคิดหาวิธีอื่นในการปกป้องชุมชน เช่นการใช้ยาฆ่าแมลงแบบหมุนเวียน เพื่อมุ่งไปยังเป้าหมายที่แตกต่างกัน รวมถึงการคิดค้นวัคซีนในการป้องกันโรคด้วย ส่วนตัวเลือกอื่น ๆ ได้แก่ ความพยายามมากขึ้นในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  เนื่องจากกังวลว่ายุงที่มีการกลายพันธุ์ที่พบในการศึกษานี้จะแพร่กระจายไปยังส่วนที่เหลือของโลกในอนาคตอันใกล้