posttoday

กิ้งก่าอายุ 200 ล้านปี! นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์พบ 351 สปีชีส์ใหม่ในปี 2022

04 มกราคม 2566

ในปี 2022 ที่ผ่านมาทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ประเทศอังกฤษ เผยว่าได้ค้นพบสปีชีส์สัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ถึง 351 สปีชีส์ ตั้งแต่สัตว์ตัวจิ๋วระดับไบรโอซัวไปจนถึงระดับยักษ์ใหญ่อย่างไดโนเสาร์

ท่ามกลางสถานการณ์การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธ์ต่างๆ การค้นพบสายพันธุ์ใหม่ถึง 351 สปีชีส์นี้ถือเป็นข่าวดีและมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งยวด โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น ตัวต่อ 85 ชนิด, แมลงปีกแข็ง 84 ชนิด, ผีเสื้อกลางคืนหรือชีปะขาว 34 ชนิด, ไบรโอซัสหรือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายมอส (moss animal) 23 ชนิด, หนอนตัวแบน 13 ชนิด, แมลงวัน 7 ชนิด, ไส้เดือนทะเล 2 ชนิด, สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว หรือโพรทิสต์ 12 ชนิด, ผึ้งหึ่ง (bumblebee) จากเอเชีย 2 ชนิด, ตั๊กแตนกิ่งไม้จากออสเตรเลีย 19 ชนิด, ตุ๊กแกจากหมู่เกาะเซเชลส์ในมหาสมุทรอินเดีย 1 ชนิด, กบ 7 ชนิด, ปลา 3 ชนิดรวมถึงตะขาบสปีชีส์ใหม่อีกจำนวนมากที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบมาก่อน

กิ้งก่าอายุ 200 ล้านปี! นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์พบ 351 สปีชีส์ใหม่ในปี 2022

ขณะเดียวกันเนื่องจากสัตว์ส่วนใหญ่บนโลกเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จึงไม่น่าแปลกใจที่สปีชีส์ส่วนใหญ่ที่เพิ่งถูกค้นพบจะจัดอยู่ในกลุ่มนี้

นอกจากนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ ยังค้นพบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน 3 ชนิด ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นไดโนเสาร์หุ้มเกราะ (Armoured Dinosaur) จากจีน โดยตัวแรกเป็นไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ขณะที่ตัวที่สองเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ ‘สเตโกซอรัส (Stegosaurus)’  ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์ที่ค้นพบใหม่นี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาเพิ่มเติมถึงวิวัฒนาการของเกราะหนาที่ช่วยปกป้องพวกมันได้

กิ้งก่าอายุ 200 ล้านปี! นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์พบ 351 สปีชีส์ใหม่ในปี 2022

ส่วนตัวสุดท้าย เป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์กินเนื้อที่มีแขนเขนาดเล็ก ซึ่งพบทางตอนเหนือของอาร์เจนตินาราว 70 ล้านปีก่อน การค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้มีการตอบสนองและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหลังอุกกาบาตพุ่งชนจนส่งผลให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลก

กิ้งก่าอายุ 200 ล้านปี! นักวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์พบ 351 สปีชีส์ใหม่ในปี 2022

การค้นพบที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจโลกในอดีตมากขึ้นไม่ได้จบที่ไดโนเสาร์เท่านั้น แต่ยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของกิ้งก่าที่อายุกว่า 200 ล้านปี ที่นอกจากจะเป็นกิ้งก่าสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อนแล้ว ยังถือเป็นกิ้งก่าที่เก่าแก่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ

แม้ว่าหลายสปีชีส์จะเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยสำหรับชนพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่การตั้งชื่อสายพันธุ์ให้มีความเฉพาะตัวมากขึ้น จะช่วยให้การอนุรักษ์และปกป้องซึ่งความหลากหลายทางธรรมชาติเป็นไปได้อย่างดีขึ้น