เบื้องหลังสังคมหลากวัฒนธรรมนอร์เวย์ความล้มเหลวของภาครัฐสู่เหตุสังหารหมู่
ใครเลยจะคาดคิดว่า ย่านที่เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าทรุดโทรม แออัดไปด้วยผู้คนหลากผิวสี
ใครเลยจะคาดคิดว่า ย่านที่เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าทรุดโทรม แออัดไปด้วยผู้คนหลากผิวสี
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
ใครเลยจะคาดคิดว่า ย่านที่เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าทรุดโทรม แออัดไปด้วยผู้คนหลากผิวสี มีมัสยิดตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟคือประเทศนอร์เวย์ ประเทศในฝันของใครต่อหลายคนที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสงบสุข ร่ำรวย และอยู่ดีกินดีของประชาชน
ย่านที่กล่าวถึงนี้คือ ฟูราเซต ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของกรุงออสโล เมืองหลวงประเทศนอร์เวย์
ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยพลุกพล่านไปด้วยชาวนอร์เวย์ท้องถิ่น หรือที่คุ้นกันในภาพของคนผิวขาว นัยน์ตาสีฟ้า ผมสีบลอนด์ แต่ถึงตอนนี้คนผิวขาวกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในย่านที่เต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางและแอฟริกา
ภาพของสังคมเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า นอร์เวย์ได้เปิดประเทศรับผู้อพยพจนกลายเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multiculturalism) โดยไม่มีใครคาดคิดว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นดาบสองคม สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้กับชาวนอร์เวย์จนไม่มีวันลืมเลือน
ในเช้าของวันที่ 22 ก.ค. แอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก หนุ่มนอร์เวย์วัย 32 ปี ได้ก่อเหตุวางระเบิดสถานที่ราชการกลางกรุงออสโล หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มไล่กราดยิงเยาวชนจำนวนมากที่กำลังเข้าค่ายอยู่บนเกาะอูโตยา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงออสโลเพียงไม่กี่ชั่วโมง
เหตุสยองขวัญนี้ได้เตือนสติประชาคมโลกโดยเฉพาะชาวนอร์เวย์ว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไม่ใช่ประเด็นที่จะมองข้ามได้อีกต่อไปภายหลัง เบรวิก ให้การต่อศาลว่า สาเหตุที่ต้องลงมือสังหารชาวนอร์เวย์ 76 คน อย่างโหดเหี้ยมนั้น ก็เพื่อจุดประกายสงครามต่อต้านความหลากทางวัฒนธรรม ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่ากำลังทำลายวัฒนธรรมของชาวยุโรปผิวขาว
เบรวิก มองภาพตัวเองเป็นอัศวินเทมพลาร์ผู้มีหน้าที่ต้องปกป้องคริสต์ศาสนาและคนผิวขาวจากต่างชาติ ดังนั้นการต่อต้านแรงงานอพยพอย่างสุดโต่งของเบรวิกที่แท้ก็คือต้นตอที่มาที่ไปของเหตุการณ์สังหารหมู่ในครั้งนี้
ทั้งนี้ นอร์เวย์และประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียได้สนับสนุนการเปิดรับผู้อพยพมาตลอด โดยในช่วง 200 ปีที่ผ่านมามีผู้อพยพจำนวนมากไหลทะลักเข้าประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีการสู้รบอย่าง โซมาเลีย อิรัก และอัฟกานิสถาน เพื่อหลบหนีสงครามและหวังที่จะสร้างชีวิตใหม่ในนอร์เวย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดรับผู้ลี้ภัยก็ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยขณะนี้จำนวนคนต่างด้าวในนอร์เวย์สูงถึง 6 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ระหว่างปี 25382551 ถือได้ว่าเป็นคลื่นมนุษย์ที่พัดเข้าสู่ประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดเพียง 4.8 ล้านคนของประเทศ โดยกลุ่มคนต่างด้าวหลักๆ ประกอบด้วย ชาวโปแลนด์ สวีเดน อิรัก ปากีสถาน และโซมาเลีย ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนคนต่างด้าวโดยเฉพาะชาวมุสลิมในนอร์เวย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่ครอบครัวมุสลิมนิยมมีบุตรหลายคน ขนาดครอบครัวจึงใหญ่กว่าครอบครัวคนผิวขาว ส่งผลให้ในปัจจุบันมีชาวมุสลิมกว่า 1 แสนคน อาศัยอยู่ในนอร์เวย์
แม้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะมีข้อดีในแง่ของการเปิดโลกทัศน์และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยแรงงานต่างด้าวได้เข้าไปช่วยปิดช่องว่างการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในหลายชาติยุโรป หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ เข้าไปทำงานระดับล่างที่คนพื้นเมืองไม่ยอมทำ แต่ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความกังวลใจไม่น้อยให้กับคนผิวขาวพื้นเมืองที่มองแรงงานอพยพเหล่านี้ว่าเป็นผู้ที่เข้ามาแย่งโอกาสในการทำมาหากิน และยังขยายอิทธิพลทางด้านศาสนาอีกด้วย
เมื่อคนเริ่มสงสัยในคุณและโทษของความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างความกระจ่างในสังคม คือ การเปิดอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ
แต่รัฐบาลหลายประเทศกลับล้มเหลวที่จะทำเช่นนั้น โดยนักการเมืองส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ เพราะทราบดีว่าเรื่องเชื้อชาติเป็นเรื่องที่อ่อนไหวซึ่งอาจนำไปสู่ข้อพิพาทได้ ซึ่งเมื่อไม่ยอมกล่าวถึงปัญหาเลยก็เท่ากับเป็นการละเลยไปในตัว
“นอร์เวย์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ไม่มีการชี้แจงและอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์คนต่างด้าว โดยชาวยุโรปในประเทศอื่นๆ ก็รู้สึกอึดอัดและผิดหวังเช่นกันที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นและรับทราบข้อเท็จจริงได้” ลิลลิต เจอร์เวอร์เจียน นักวิเคราะห์จากบริษัท ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มีผู้นำประเทศหลายคนแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เช่น นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ นายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เกิล แห่งเยอรมนี และประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส โดยทั้งสามได้กล่าวว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมสร้างปัญหาให้กับสังคม
ทว่า ในขณะเดียวกันผู้นำทั้งสามก็ได้กล่าวถึงคุณงามความดีที่แรงงานต่างด้าวทำให้ประเทศ ส่งผลให้สารที่พยายามสื่อออกไปนั้นขาดความชัดเจนซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
“สิ่งที่เกิดขึ้นเวลามีการถกเถียงหรืออภิปรายเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศ คือ ความรู้สึกสับสน ไม่พอใจ และข้อมูลที่ขัดแย้งในตัวเอง” ซาราห์ ซิลแวสต์ อาจารย์ด้านศาสนาและนโยบายระหว่างต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยซิตี ลอนดอน กล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้คนจึงพยายามหาทางออกด้วยการแบ่งแยกข้อมูลเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เช่น อิสลามสายกลาง หรืออิสลามหัวรุนแรง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือการปรับเข้ากันของวัฒนธรรมในสังคม แต่ ซิลแวสต์ ก็เตือนว่า การทำเช่นนี้ยิ่งส่งผลให้สังคมเกิดการแตกแยก เพราะคนนั้นถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ ทำให้ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ชอบฉวยโอกาสอย่างพรรคการเมืองเอียงขวาในหลายประเทศยุโรป พรรคเหล่านี้พยายามกอบโกยคะแนนเสียงจากคนพื้นเมืองด้วยการนำประเด็นเรื่อง “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวต่อผู้อพยพต่างด้าว ซึ่งกลยุทธ์นี้ดูจะได้ผลดีเลยทีเดียว ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วยุโรปและภัยคุกคามจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเทคนิคขู่ให้กลัวนี้เป็นภัยต่อสังคม เพราะปลูกฝังความเกลียดชังที่ฝังลึกดังที่เกิดขึ้นกับ เบรวิก โดยพรรคการเมืองเหล่านี้จะพยายามวาดภาพชาวมุสลิมว่าเป็นศัตรูอันตรายที่กำลังยึดประเทศของคนขาว ดังนั้นผู้คนจึงรู้สึกหวาดกลัว และความรู้สึกนี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นความเกลียดชังได้ไม่ยาก
ทั่วยุโรปมีพรรคการเมืองขวาจัดอยู่จำนวนมาก อย่างพรรคสวีเดน เดโมแครต ในประเทศสวีเดน และพรรคก้าวหน้าของนอร์เวย์ โดยกลุ่มเหล่านี้ได้พยายามผลักดันนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัยมาตลอด ซึ่งในระยะหลังก็ดูมีแนวโน้มว่าจะได้ผล
“หากนักการเมืองกล่าวในที่ประชุมสภาว่า ชาวมุสลิมเป็นกลุ่มคนที่อันตราย คนก็จะยิ่งปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้ราวกับศัตรู” โยฮันเนส ยาคอปสัน นักข่าวของนิตยสารฟาสซิสม์ กล่าว
อีกทั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลนอร์เวย์ได้เพิ่มมาตรการคุมเข้มเรื่องการรับผู้ลี้ภัยภายหลังถูกกดดันอย่างหนักจากพรรคก้าวหน้า โดยพรรคก้าวหน้ากำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศ เพราะประชาชนเริ่มหันมาสนับสนุนนโยบายต่อต้านแรงงานอพยพ
ทั้งนี้ การโทษพรรคก้าวหน้าว่ามีส่วนสำคัญในการจุดประกายความคิดและปลูกฝังความหลงใหลอันแรงกล้าให้กับบุคคลอย่าง เบรวิก ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเลย เพราะ เบรวิก เคยเป็นสมาชิกของพรรคระหว่างปี 2542-2549 ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกเนื่องจากมองว่าทางพรรคนั้นไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และตอบสนองความต้องการของตนได้
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่พรรคการเมืองไม่สนับสนุนความคิดเชิงอคติต่อคนต่างด้าวนั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดกองกำลังหัวรุนแรงใต้ดินอย่างที่หลายคนอ้าง
“เราไม่สามารถโทษพรรคก้าวหน้าได้กรณีเกิดนักเคลื่อนไหวขวาจัดหัวรุนแรง เนื่องจากมีกลุ่มต่อต้านผู้อพยพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมหลายกลุ่มที่ได้แยกตัวออกมาจากพรรคเพราะมองว่าไร้ซึ่งนโยบายที่เข้มข้นและรุนแรงพอในการต่อต้านผู้อพยพ” ฮารัลด์ สแตงเฮลล์ บรรณาธิการข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์อัฟเตนโพสเตน กล่าว
สแตงเฮลล์ ยังมองว่า เบรวิก นั้นถือว่าเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากหนุ่มนอร์เวย์รายนี้เป็นพวกหัวรุนแรงชอบสันโดษ ซึ่งไม่ค่อยได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในนอร์เวย์มากเท่าใดนัก อีกทั้งมือสังหารรายนี้ยังได้เก็บกดความรู้สึกมาเป็นเวลานาน เมื่อความอดทนเริ่มหมดลงเขาก็ระเบิดในที่สุด
ทางการนอร์เวย์พยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ ด้วยการยืนยันว่า เบรวิก ไม่ใช่ตัวแทนของคนนอร์เวย์ เจตนารมณ์ของเขาไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศยกเว้นกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของสังคม
แม้เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะถูกมองข้ามและไม่ได้รับการจัดการที่ดีจากภาครัฐมาโดยตลอด แต่รับรองว่าต่อไปเรื่องนี้จะต้องเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุด เพราะมือสังหาร 76 ศพได้ปลุกทั้งประเทศให้ตื่นแล้ว