เปิดหลักคิด “นิติวิศวกรรม” ถอดปมโศกนาฏกรรม "ตึกสตง.ถล่ม"
เปิดหลักคิด "นิติวิศวกรรม" ถอดปมโศกนาฏกรรม "ตึกสตง.ถล่ม" ชี้ ให้แยก “ต้นเหตุ” ออกจาก “ผลกระทบ” และ “เหตุการณ์ร่วม” มองกลไกวิบัติอย่างมีเหตุ มีผล
ดร. วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย ศาสตราจารย์วิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยหลักคิด "นิติวิศวกรรม" กรณีตึกสตง.ถล่ม โดยระบุว่า FORENSIC ENGINEERING 101 (นิติวิศวกรรมเบื้องต้น) หลังซากอาคาร สตง. ถูกรื้อถอนและขนย้ายออกหมดแล้ว สิ่งที่เหลือ ปรากฏเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย
-เศษคอนกรีตที่ป่นยุ่ยไม่เกาะอยู่กับเหล็ก
-พื้นคอนกรีตที่ขอบมีเหล็กเสียบถูกดึงหลุดจากกำแพงปล่องลิฟท์อย่างง่ายดาย
-เครนที่ถูกเหวี่ยงไกลจากตำแหน่งเดิม -ตอม่อเสาหลายต้นที่ถูกเฉือนจนเห็นเหล็กเสริมบิดไปทิศทางเดียวกัน
ซึ่งอาจถูกใช้ในการตีความหาต้นเหตุของตึกถล่ม
แต่ก่อนที่วิศวกรผู้สังเกตการณ์จะด่วนสรุป เราควรเข้าใจหลักการพื้นฐานของนิติวิศวกรรมเกี่ยวกับ "ความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล" (Ca
usality)
ในการวิเคราะห์อาคารถล่มที่กลายเป็นโศกนาฏกรรม ถ้าเป้าหมายคือการค้นหา "สาเหตุ" ของการเกิดกลไกการถล่ม เราจำต้องตระหนักว่า หลักฐานที่พบในซากปรักหักพัง อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท:
1. ต้นเหตุ (Cause): คือ หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึ่งทำให้เกิดการวิบัติ วิธีพิสูจน์ว่าเหตุการณ์นั้นเป็นต้นเหตุจริง คือ การตรวจสอบว่าเหตุการณ์ที่สันนิษฐานนั้น หากเกิดขึ้นจริงแล้ว สามารถมีเส้นทางการวิบัติ (failure path) ที่ก่อให้เกิดการถล่มแบบแพนเค้กได้อย่างไร และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ทั้ง 3 ข้อหรือไม่
2. ผลพวง (Consequence): ได้แก่ ซากปรักหักพังทั้งหลายที่ถูกทำลายจากการถล่ม ประเด็นสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงเสมอคือ การด้อยคุณสมบัติของวัสดุ เช่น เหล็กเส้นและคอนกรีต ในซากปรักหักพัง จะใช้บ่งชี้ว่าคุณสมบัติวัสดุด้อยมาตั้งแต่ก่อนถล่มได้หรือไม่
3. เหตุการณ์ร่วม (Collateral): สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นต้นเหตุ เช่น การเกิดวิบัติเฉพาะที่ (Local Failure) ที่เสา 4 ต้นบริเวณชั้น 28-29 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนจริง แต่ไม่มีเส้นทางการวิบัติที่สามารถทำให้เกิดการถล่มแบบแพนเค้กได้ จึงถือเป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดจากแผ่นดิไหวลูกเดียวกัน
สำหรับการถล่มของอาคาร สตง. ปัจจุบันเริ่มมีอีกหลายทฤษฎี เช่น
(1) ความบกพร่องในการออกแบบรอยต่อที่เป็น Cold Joints ระหว่างกำแพงปล่องลิฟท์กับพื้น Post-Tensioned Slab (ซึ่งความจริงแล้ว การออกแบบปกติ คงไม่ได้ออกแบบรับ Reverse Punching Shear ที่เกิดจากกำแพงฉุดพื้นให้หล่นลงสู่พื้นด้วยกัน
(2) มีการกล่าวอ้างโดยไม่ได้แสดงหลักฐานว่า มีการแอบเติมน้ำระหว่างการเทคอนกรีตผสมเสร็จ ซึ่งอาจทำให้กำลังอัดของคอนกรีตมีค่าต่ำกว่าที่ออกแบบไว้
ไม่ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นสาเหตุหรือเป็นเพียงเหตุการณ์ร่วม แต่ก็สะท้อนถึงจุดอ่อนของขบวนการก่อสร้าง ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับวิชาชีพวิศวกรรมต่อไป
สุดท้าย ขอฝากข้อคิดแก่คณะกรรมการสอบสวนว่า การค้นหาสาเหตุการวิบัติแบบแพนเค้ก ต้องสามารถอธิบายได้ว่ามีกลไกเกิดขึ้นอย่างไร และมีเส้นทางวิบัตื (failure path) ที่สอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์ 3 ประการนี้:
1. สามารถทำให้เกิดการถล่มทั้งหมด—ไม่มีส่วนใดของอาคารหลงเหลือ
2. สามารถถล่มโดยไม่มีการเอียงอย่างมีนัยสำคัญ
3. สามารถถล่มโดยใช้เวลาเพียง 8 วินาที
หวังว่าหลักคิดเชิงนิติวิศวกรรมศาสตร์เหล่านี้ จะช่วยให้คณะกรรมการยึดถือเพื่อแยกแยะระหว่างเหตุแท้ ผลลัพธ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขนานกันได้อย่างถูกต้อง