posttoday

แกะรอยทนายดังโซเชียลฉ้อโกงลูกความเสี่ยงถูกลบชื่อพ้นสภาทนายความ

30 ตุลาคม 2567

กางบทลงโทษสูงสุด คดีผิดมรรยาททนายความ ตามพ.ร.บ.ทนายความ ลบชื่อออกจากสภาทนายความ หมดสิทธิว่าความตลอดชีวิต เทียบพฤติกรรมหิวแสงบรรดา"หมอความ"คนดังโลกโซเชียลฉ้อโกงลูกความเสี่ยงผิดจริยธรรมรุนแรง

กรณีนายมะโน ทองปาน รองประธานมรรยาทสภาทนายความ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ"ทนายอั๋น"ให้ตรวจสอบมรรยาททนายความ ของทนายความคนดังผ่านโซเชียลรายหนึ่งเพราะถูกแฉพฤติกรรมว่าไปฉ้อโกงลูกความ มีการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน โดยหลังรับเรื่องนายมะโนยืนยันว่าจะต้องดูข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรม ทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอน ด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม

สำทับกับดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ซึ่งออกมาให้ข่าวว่า จะมีการตรวจสอบเอาผิดกับทนายความโซเชียลคนดังรายนี้อย่างจริงจังเพราะมีประพฤติการณ์ ฉ้อโกงลูกความเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ อันเป็นการละเมิดต่อข้อบังคับของสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ จนส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร เป็นเรื่องที่ความปรากฏอย่างชัดแจ้ง และสามารถที่จะหยิบยกนำมาเป็นคดีมรรยาทได้ทันที  

เมื่อสืบค้นไปที่ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 51 กำหนดให้ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ และมาตรา 53 กำหนดข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความต้องประกอบไปด้วยข้อกำหนด
ดังต่อไปนี้ คือ

1. มรรยาทของทนายความต่อศาลและในศาล
2. มรรยาทต่อตัวความ
3. มรรยาทของทนายความต่อทนายความด้วยกัน
4. มรรยาทของทนายความต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี
5. มรรยาทเกี่ยวกับความประพฤติของทนายความ
6. การแต่งกายของทนายความและ
7. การปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความ 
คณะกรรมการสภาทนายความหรือสภานายกพิเศษ

มรรยาททนายความจึงไม่มีเพียงแต่เป็นข้อบังคับระหว่างทนายความกับลูกความหากแต่รวมถึงองคาพยพทั้งหมดที่ประกอบขึ้นเป็นกระบวนการยุติธรรม

มรรยาททนายความหมายถึง จรรยาบรรณที่กำหนดเป็นข้อปฏิบัติ และข้อห้ามปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพ เป็นข้อบังคับที่เป็นแนวทางในการประกอบวิชาชีพทนายความที่ทนายทุกคนต้องระมัดระวัง และเคร่งครัดถือปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง 

หากทนายความผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2528 ถือว่าผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ ย่อมต้องถูกดำเนินคดีมรรยาททนายความ ซึ่งจะมีบทลงโทษ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 มาตรา 52 ซึ่งกล่าวถึงโทษผิดมรรยาททนายความไว้ 3 สถาน คือ
1. ภาคทัณฑ์
2. ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือ
3. ลบชื่ออกจากทะเบียนทนายความ

แต่อย่างไรก็ตาม หากผิดมรรยาททนายความเล็กน้อย และเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าผู้มีอำนาจสั่งลงโทษตาม มาตรา 66 มาตรา 67 หรือมาตรา 68 แล้วแต่กรณีเห็นว่า มีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้ โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้

พฤติกรรมทนายความคนดังผ่านโลกโซเชียล เรียกรับเงินเอาจากลูกความเกินผลประโยชน์ที่สมควรจะได้รับตามฐานานุรูป อันหมายถึง ตามความพอดี พอเหมาะ พอควร พอสมน้ำสมเนื้อ หรือนำความลับของลูกความไปให้กับฝ่ายตรงกันข้าม ฉวยโอกาสในฐานะที่ตนเองมีชื่อเสียงมีแสงไฟกำลังสาดส่อง ส่งคนเจรจาต่อรองผู้เสียหาย หรือนำความลับไปบอกคู่กรณีอีกฝ่าย โดยที่ลูกความไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่ท้าทายจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพทนายทั้งสิ้น 

อาชีพ"ทนายความ"เปรียบเป็นเหมือน"หมอความ"รักษาคนไข้ที่เจ็บป่วยจากโรค"ความอยุติธรรม" หากทนายความไม่ดำรงไว้ซึ่งความสุจริตตั้งแต่ต้น จ้องแต่ฉ้อฉลเอาจากลูกความ ก็เปรียบดังเลี้ยงไข้คนป่วย โรครักษาไม่หาย"ความอยุติธรรม"เกาะกินไปไม่จบสิ้น หากไม่แก้ไขกำจัดเนื้อร้ายภาระตกแก่สังคม ความยุติธรรมไม่มีวันเกิด