posttoday

สหรัฐส่งโอเชี่ยน เวเลอร์ร่วมกู้เรือหลวงสุโขทัยในภารกิจฝึกคอบบราโกล์

22 กุมภาพันธ์ 2567

กองทัพเรือไทย-สหรัฐฯ ร่วมปฏิบัติการ กู้เรือหลวงสุโขทัย วันแรก ผบ.ทร. เผยตั้งเป้าเก็บกู้ป้ายเรือหลวงสุโขทัย แจงไทม์ไลน์ตลอด19วัน ยันพบรอยปริบริเวณหัวเรือ รอรวบรวมข้อมูลสรุปสาเหตุที่ชัดเจน เผยคำให้การภาพถ่ายใต้น้ำตรงกันปิดประตูก่อนเรือจม

เมื่อวันที่ 22ก.พ.2567 กองทัพเรือนำสื่อมวลชนขึ้นเรือหลวงมันในออกไปติดตามการปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยวันแรกท่ามกลางสภาพอากาศคลื่นลมสงบท้องฟ้าแจ่มใสโดยมีกองทัพเรือไทย และกองทัพสหรัฐฯ ร่วมกันปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งการฝึกคอบบราโกล์ครั้งที่ 43 ซึ่งกองทัพสหรัฐ ได้นำเรือ โอเชี่ยน เวเลอร์ พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยประดาน้ำ และกู้ซ่อมเคลื่อนที่  ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในรัฐฮาวาย จำนวน 14 นายเข้าร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ ส่วนกำลังพลของกองทัพเรือไทย ทั้งหมด35 นาย รวม 49 นาย

การปฏิบัติการจะมีทั้งการสำรวจ ปลดอาวุธยุทโธปกรณ์ และวัตถุอันตราย รวมถึงค้นหาผู้ที่ยังสูญหายอีก5นาย ในจุดที่เรือหลวงสุโขทัยจมลง อยู่ห่างจาก ท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 22ไมล์ทะเล หรือประมาณ เกือบ40กิโลเมตร ซึ่งเรือโอเชียน เวเลอร์ จะจอดลอยลำเป็นฐานปฏิบัติการใกล้กับทุ่นมาร์กจุดเรือหลวงสุโขทัยจม ที่ทำสัญลักษณ์ไว้กลางทะเลอย่างชัดเจน ซึ่งจุดที่เรือหลวงสุโขทัยจม จะอยู่ฝั่งกาบเรือด้านขวาของเรือโอเชียล เวเลอร์

พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผยว่า ภารกิจหลัก คือ การนำป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย ขึ้นมาให้ได้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนภารกิจตลอด 20 วัน ได้แบ่งสัดส่วนหน้าที่คือ

1-5 วันแรก จะทำการสำรวจและถ่ายรูปเรือหลวงสุโขทัยทั้งลำ และหาผู้สูญหาย โดยภาพถ่ายจะนำมาประกอบสำนวนทางคดี เผื่อดูข้อเท็จจริงสาเหตุการอับปางของเรือ เบื้องต้น จากการสังเกตุภาพใต้น้ำในวันนี้ จุดที่น้ำเข้าตรงกับในสำนวนคดีที่กัปตันให้การไว้ ซึ่งในสำนวนคดีระบุว่า ผู้การเรือหลวงสุโขทัย ให้การว่า ก่อนที่เรือจะล่ม ได้สั่งให้มีการปิดประตูเรือตามแผนปฏิบัติ ซึ่งวันนี้ภาพใต้น้ำก็เห็นว่า มีการปิดประตูจริง

ส่วนวันที่ 6-19 จะเป็นการทำลายอาวุธ วัตถุอันตรายภายในเรือหลวงสุโขทัย และจะนำสิ่งของทุกอย่างที่นำขึ้นมาได้ ทั้งอุปกรณ์ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจของกำลังพล โดยจะนำมาทำเป็นอนุสรณ์สถาน และจะจบภารกิจจำนวน19วัน

ผบ.ทร.ระบุด้วยว่า การปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา และเอามาประกอบสิ่งที่ต้องการแถลงให้คนไทยทั้งประเทศ ว่าเรือหลวงสุโขทัยจมไปเพราะอะไร ซึ่งต้องชัดเจน พร้อมยอมรับว่าตนเองได้เห็นหมดแล้ว แต่ในขณะนั้นอยากนำเรือขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้เห็นกับตา ที่ระบุว่า ในวันที่เกิดเหตุประมาณตี 3 น้ำเริ่มเข้ามาในตัวเรือ เข้ามาบริเวณใด ในช่วงตี 4 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรามีข้อมูลหมดแล้ว แค่ต้องการนำมาเปรียบเทียบกัน จากคำให้การของคนบนเรือว่าพูดตรงกันหรือไม่ และจากการไปถ่ายรูปเรือบริเวณดังกล่าว มีรอยปริ ตรงหัวเรือจริง ส่วนเกิดจากสาเหตุอะไร ขอให้รอข้อมูล พร้อมยืนยัน ว่าไม่ได้ปริเนื่องจาก สาเหตุการซ่อมบำรุง

ทั้งนี้ หากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะนำมาแถลง เพื่อให้คนไทยได้รับรู้อย่างเข้าใจถึงสาเหตุการอับปาง

ทั้งนี้ ผบ.ทร. ระบุด้วยว่า สำหรับงบประมาณที่ได้ตั้งไว้สำหรับภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย 200 ล้านบาท แบ่งเป็น งบของกองทัพโดยตรง 110 ล้าน ของรัฐบาล 90 ล้านซึ่งจะคืนให้แน่นอน เพื่อให้ไปใช้กับประชาชนด้านอื่น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆที่กองทัพเรือไทยจะต้องรับผิดชอบก็จะใช้งบประมาณของกองทัพ แต่ค่าใช้จ่ายในภารกิจนี้ยังเทียบไม่ได้กับที่ทางกองทัพเรือสหรัฐช่วยสนับสนุน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปออกมาเป็นตัวเลขได้ ซึ่งทางกองทัพเรือสหรัฐ ได้ใช้งบประมาณการฝึกคอบบร้าโกล์ มาทำภารกิจในครั้งนี้ 

ทั้งนี้ ขอบคุณกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกำลังพล จากเรือโอเชียน เวเลอร์ พร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด รวมถึงงบประมาณ ในทำภารกิจครั้งนี้ ซึ่งตนเองมีความเข้าใจอย่างยิ่งว่า สหรัฐฯต้องใช้งบจำนวนมาก เนื่องจากเรือโอเชียน เวเลอร์นั้น เป็นเรือเปล่า ทำให้ต้องขนอุปกรณ์จากรัฐฮาวายผ่านทางเฮลิคอปเตอร์ นำมาขนถ่ายลงที่เรือโอเชียน เวเลอร์ ขณะจอดอยู่ที่สิงคโปร์ โดยมีการขนตั้งแต่วันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

พร้อมย้ำว่า กองทัพเรือไทยมีความซาบซึ้งและขอขอบคุณกองทัพสหรัฐ เป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้เข้าใจแล้วว่า เอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ TOR ให้บริษัทมาดำเนินการกู้เรือหลวงสุโขทัยนั้น ไม่ผ่าน เนื่องจากเอกสารไม่ครบ เพราะต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก และสหรัฐฯได้เสนอตัวในขณะที่กองทัพเรือไทยกำลังต้องการพอดี