posttoday

อัยการยกคดีขับรถพุ่งชนเจ้าหนี้นอกระบบดับอุทาหรณ์ไม่ใช้กฎหมายเเก้ปัญหา

17 ธันวาคม 2566

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการ สคช.ยกคดีสามีแม่ค้าผลไม้ขับรถพุ่งชนเจ้าหนี้นอกระบบเสียชีวิตเป็นอุทาหรณ์ ชี้การไม่ใช้กฎหมายแก้ปัญหาฝ่ายลูกหนี้ตกเป็นผู้ต้องหาเเทนที่จะเป็นผู้เสียหายคดีเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่ากม.กำหนด

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) โพสต์ข้อความให้ความเห็นทางกฎหมาย กรณีสามีแม่ค้าผลไม้ขับรถพุ่งชนเจ้าหนี้นอกระบบเสียชีวิตเพราะตามมาทวงหนี้ถึงหน้าร้าน หลังจากที่แม่ค้าไม้แจ้งให้ทราบว่าขอหยุดส่งป่วยเป็นซีสต์ที่เต้านมว่า
เมื่อเกิดเหตุการณ์ดอกเบี้ยโหด สู้กลับ เจ้าหนี้ตาย ต้องบอกว่ากฎหมายคุ้มครองทุกคน  

กฎหมายห้ามลูกหนี้ฆ่าเจ้าหนี้นอกระบบ และกฎหมายก็ห้ามเจ้าหนี้เอาเปรียบลูกหนี้ เช่นกันเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หนี้นอกระบบกดดันจนคนทำผิดกฏหมายมั่นใจว่าคนขับรถชนเจ้าหนี้นอกระบบเก็บดอกรายวันรู้ว่าขับรถชนคนตายผิดกฎหมายแน่ แต่คงทนไม่ไหวจากการทวงหนี้ ที่เจ้าหนี้ทำกับครอบครัวเขา  เมื่อหนี้นอกระบบสู้กลับ วันนี้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ใช้กฎหมู่ตัดสินกันเองแล้ว ลูกหนี้ผูกคอตาย เจ้าหนี้โดนชนตาย จนลืมกันหมดว่ามีกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดมีโทษจำคุก ทำร้ายผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น ก็มีโทษจำคุกเช่นกัน ลูกหนี้หาทางออกไม่ได้ฆ่าตัวตายก็หลายรายแล้ว

ขอเเนะนำว่าให้กลับมาใช้กฎหมาย ให้สังคมอยู่กันได้อย่างปลอดภัยและสงบสุข ดอกเบี้ยตามกฎหมายแค่ร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น เกินกว่านี้ผิดโทษจำคุก ข่าวนี้เห็นได้ว่า เมื่อฝ่ายลูกหนี้ถูกกดดัน จนทนไม่ไหวเมื่อก่อนลูกหนี้ไปฆ่าตัวตาย วันนี้ครอบครัวลูกหนี้ฆ่าเจ้าหนี้ บ้านเมืองจะหาขื่อแป ที่ไหน 

ตำรวจก็ต้องดำเนินคดีกับชายที่ขับรถชนเจ้าหนี้นอกระบบถึงแก่ความตายตามกฏหมาย สอบสวนและดำเนินคดีกันไปตามความจริง  ที่ผ่านมามีคนโทรมาถามตนแล้วว่าเป็นบันดาลโทสะหรือไม่ ก็ตอบไปว่าให้พนักงานสอบสวนเค้าสอบสวนให้ได้ความจริงเพราะเราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และเมื่อได้ความความจริงแล้วดำเนินคดีกันตามกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรม ต่อไป กฎหมายมีไว้คุ้มครองประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีอะไรผิดกฎหมายใช้กฎหมายแก้ปัญหาแจ้งความดำเนินคดี

“อย่าเอาความบกพร่องของคนมามองว่ากฎหมายบกพร่องไปด้วย อย่าใช้อารมณ์ตัดสินกันเองใช้อารมณ์เมื่อไหร่ ผิดกฎหมายเมื่อนั้น และเมื่อผิดกฎหมายก็มีโทษทางอาญาตามมา ทุกข์ แสนสาหัสก็กลับมาสู่ครอบครัวเช่นกัน ฝากถึงลูกหนี้นอกระบบที่ถูกเจ้าหนี้ขูดเลือดดอกเบี้ยไปแจ้งความดำเนินคดี ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ทวงหนี้ผิดกฎหมายใช้กฎหมายคุ้มครองเรา เพราะถ้าใช้อารมณ์ใช้กำลังก็จะกลายเป็นผู้ต้องหาเองแทนที่จะเป็นผู้เสียหาย เพราะดอกเบี้ย” อธิบดีอัยการ สคช.กล่าว