posttoday

"ผศ.ดร.ธรณ์"เสนอ 3 ทางออกกอบกู้หาดบางแสนศรีราชา ฟื้นธรรมชาติก่อนสาย

09 กันยายน 2566

ปลาตายเกลื่อน! "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์"โพสต์ถามเมื่อไหร่น้ำบางแสน-ศรีราชาจะเลิกเขียว ปลาจะเลิกตาย คนได้เล่นน้ำทะเล พร้อมเสนอ 3 ข้อทางออกรับมือปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเฟสบุค Thon Thamrongnawasawat ว่า คำถามสำหรับคนบางแสน-ศรีราชาในปัจจุบัน ไม่ใช่น้ำเขียวคืออะไร ? แต่ถามว่าเมื่อไหร่น้ำจะเลิกเขียว ปลาจะเลิกตาย คนจะเล่นน้ำใสๆ ได้สมที่ตั้งใจมาเที่ยวทะเล

คณะประมง มก. ร่วมกับ สสน. วิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องจากสถานีศรีราชา โดยดูจากข้อมูลย้อนหลัง บอกได้ว่าน้ำเขียวแถวนี้จะเกิดช่วงพฤษภาคม-ตุลาคม หมายความว่าขึ้นเดือนพฤศจิกายนเมื่อไหร่ น้ำจะดีขึ้น และดีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงพฤษภาคมปีต่อไปสอดคล้องกับลมมรสุมที่พัดน้ำเขียวมาสู่ฝั่งด้านนี้ ยังเกี่ยวกับการไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทย

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีเอลนีโญ ซึ่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนสิ้นปี อาจเกิดความแปรปรวนที่ต้องตามต่อไป นอกจากนี้ ปรากฏการณ์น้ำเขียวที่ถี่ขึ้น ค่าออกซิเจนที่ต่ำลงบ่อยๆ ทำให้สัตว์น้ำตาย ทำให้ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมกำลังกลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงทั้งต่อการประมง การเพาะเลี้ยง และการท่องเที่ยว

นักวิทยาศาสตร์คงได้แต่บอกสถานการณ์ แต่การแก้ปัญหาจริงจังต้องช่วยกันมากว่านี้เยอะ โดยเฉพาะฝ่ายนโยบาย/รัฐบาลสิ่งที่เกิดขึ้นคงพอเห็นแล้วว่าทะเลแถวนี้กำลังแย่ จะโปรโมตการท่องเที่ยวยังไง หากธรรมชาติแย่ อะไรมันก็ไม่เป็นอย่างใจฝันหวังว่าปัญหานี้จะได้รับความสนใจจริงจัง ไม่งั้นความเดือดร้อนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ (ภาพ - เพจ ชอบจังบางแสน) 

นอกจากนี้ ยังได้โพสต์อีกว่า และแล้วปลาก็ตายเกลื่อนหาด เพื่อนธรณ์คิดว่าปลาตายเหล่านี้มีมูลค่าเท่าไหร่ ? ปลาที่ควรเป็นอาหารมื้อเช้าค่ำของชาวประมงพื้นบ้าน ของคนริมทะเลแถวนั้น นำไปขายเป็นค่าเทอมค่าไปโรงเรียนของเด็กๆ ค่าโน่นนี่อีกมากมายปลาที่มีความหมาย กลับกลายเป็นเพียงปลาเน่า หาประโยชน์ใดๆ มิได้ยังส่งกลิ่นตลบอบอวล คนเดินผ่านล้วนอุดจมูก ลบภาพหาดทรายในฝันของทุกคนไปทันที

ปลาน่าจะตายเพราะปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวปี๋จากบางแสนถึงศรีราชา ตามที่คณะประมงสำรวจไว้เมื่อ 2-3 วันก่อน รุนแรงจนออกซิเจนในน้ำเหลือไม่พอให้ปลาหายใจแพลงก์ตอนบลูมจะหมดไปเมื่อเข้าหน้าหนาว ทว่า มันจะกลับมาใหม่ในหน้าฝนปีหน้า และอาจมากขึ้นถี่ขึ้น

มันเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ทางออกจึงไม่ง่าย แต่เรายังพอทำอะไรได้บ้าง

1.เร่งสนับสนุนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางเตือนภัย/แก้ไขระยะสั้นกลางยาว จำแนกผลกระทบที่ซับซ้อนในพื้นที่

2.ยกระดับประเด็นปัญหา ตั้งคณะอะไรสักอย่างมารับมือผลักดันโดยอิงกับหลักวิชาการ เพราะความรุนแรงไม่เหมือนก่อน มันเกินกว่ากลไกปรกติจะทำงานไหว

3.ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ช่วยผลักดันและสนับสนุนนโยบาย/งบประมาณ เพราะความเดือดร้อนมันจริงจังและรุนแรง

ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อข้าวปลาอาหาร ต่อรายได้จุนเจือครอบครัว มันเยอะกว่าเงินที่ใช้ลงทุนมหาศาลทะเลคือแหล่งกระจายรายได้ดีที่สุด สร้างอาชีพสร้างงานขอเพียงรักษาทะเลที่สมบูรณ์ไว้ คนริมทะเลก็ยังหาเช้ากินค่ำต่อไปได้

แต่หากทะเลกลายเป็นเช่นนี้ จะหาเช้าหาค่ำก็คงไม่พอกิน และหนี้สินก็จะตามมาธรรมชาติที่ดีคือเศรษฐกิจที่ดี ธรรมชาติที่ดีคือทุกคนที่อยู่รอบๆ มีความสุข มีอาชีพมีรายได้เพียงพอแต่ถ้าทะเลกำลังตาย จะกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเท่าไหร่ สุดท้ายจานข้าวก็ว่างเปล่าครับ

ขณะที่ เพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์บนเฟสบุคระบุว่า ช่วงนี้ใครจะไปเที่ยวทะเลแถวๆ หาดบางแสน หาดบางพระ อาจจะเจอน้ำทะเลเปลี่ยนสี โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ภาพจากดาวเทียม SENTINEL-2 ที่วิเคราะห์ร่วมกับทิศทางกระแสน้ำจากระบบเรดาร์ชายฝั่ง ยังคงพบการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชในน้ำทะเลกระจายอยู่ 3 จุดใหญ่ๆ (วงกลม A B C)

\"ผศ.ดร.ธรณ์\"เสนอ 3 ทางออกกอบกู้หาดบางแสนศรีราชา ฟื้นธรรมชาติก่อนสาย