posttoday

คลังจี้ติดบาทแข็ง กระทบเชื่อมั่นศก.

23 กุมภาพันธ์ 2562

นักวิเคราะห์เชื่อค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงหลังเดือน มี.ค. มั่นใจหลังจากนี้สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นักวิเคราะห์เชื่อค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงหลังเดือน มี.ค. มั่นใจหลังจากนี้สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ติดตามการแข็งค่าของค่าเงินบาทด้วยความเป็นห่วง เพราะกระทบการส่งออกและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในปีนี้มองว่ายังคงผันผวนต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่มีปัจจัยทั้งการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. และการหารือเรื่องเบร็กซิต ในวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ขณะนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 4.1% ทิ้งห่างประเทศที่ค่าเงินแข็งค่ารองลงมา 1-2% โดยสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นผลมาจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอยู่ในระดับสูง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ซึ่งจะส่งผล ต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะราคาสินค้าไทยที่จะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

"ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเหมือนเป็นการซ้ำเติมภาคการส่งออก อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสินค้าไทยที่แพงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกทั้งยังทำให้การส่งออกสินค้าชะลอตัวลงอีกด้วย" นายนริศ กล่าว

นายนริศ กล่าวว่า ในระยะยาวเชื่อว่าค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่า โดยปีนี้คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ประมาณ 32.50 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่าล่าสุดค่าเงินบาทจะแข็งค่าถึง 30.80 บาท/ดอลลาร์ แต่ก็สามารถอ่อนค่ามาอยู่ที่ 31.00 บาทได้ เชื่อว่าค่าเงินบาทจะไม่ต่ำกว่า 31.00 บาท/ดอลลาร์

ขณะเดียวกันมองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลลดลงจากเดือน ม.ค. ประเทศไทยขาดดุลการค้าถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ผ่อนคลายลง ความต้องการเงินบาทสุทธิไม่ได้แย่ลง แต่กลับทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงรวม ถึงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการและเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

นายนริศ กล่าวว่า ในส่วนของ ผู้ประกอบการส่งออก แม้ว่าจะมีการทำประกันความเสี่ยงของค่าเงิน โดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) ก็อาจจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หากค่าเงินบาทมีความผันผวนต่อเนื่อง การซื้อประกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทอาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังอาจจะขาดทุนจากค่าใช้จ่ายด้วย