posttoday

ไทยพาณิชย์เขย่าองค์กร ตั้ง 4 ขุนพลสู้ศึกแบงก์

21 มกราคม 2562

ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่ในด้านการทำงาน แม้แต่สถานที่ทำงานก็จะไม่ใช่คอกหรือโต๊ะแล้ว แต่จะกลายเป็นโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ

ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่ในด้านการทำงาน แม้แต่สถานที่ทำงานก็จะไม่ใช่คอกหรือโต๊ะแล้ว แต่จะกลายเป็นโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ

*********************

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์เพื่อรับมือดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี จะเกิดขึ้นตลอดเวลาจากนี้ไป โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นอีกธนาคารที่กำลังปรับโครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง เพื่อความเหมาะสมและรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ

ในเดือน ก.พ.นี้ ธนาคารไทยพาณิชย์เตรียมจะประกาศปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ตามแผนธุรกิจ หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ โดยกระจายงานลงไปเป็นแนวราบ ซึ่ง อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการธนาคาร จะดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพียงตำแหน่งเดียว และจะมีการตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ 4 คน คล้ายคลึงกับโครงสร้างของธนาคารกสิกรไทย ดูแล 4 สายงานหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญ อาทิ ลูกค้า ความเสี่ยง ดิจิทัล แบ็กออฟฟิศ

ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 คนที่จะประกาศตามโครงสร้างใหม่ ได้แก่

อรพงศ์ เทียนเงิน รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Digital Transformation

อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer (CFO) และ Chief Strategy Officer

สารัชต์ รัตนาภรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคลและผู้บริหารสูงสุดเครือข่ายสาขา

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Retail Lending Products ผู้บริหารสูงสุด Retail Payments และผู้บริหารสูงสุด Facility Management

ไทยพาณิชย์เขย่าองค์กร ตั้ง 4 ขุนพลสู้ศึกแบงก์

“ในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ จะมีการประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นแผนระยะที่ 2 ของการTransformation ธนาคารเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งรอบนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่ในด้านการทำงานโดยสิ้นเชิง”อาทิตย์ เปิดเผย

การปรับโครงสร้างดังกล่าว จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากเดิมมีการตัดสินใจเป็นลำดับขั้น (Hierarchy) เป็นการทำงานแบบอไจล์ (Agile) โดยเริ่มที่การตั้งโจทย์ (Intend) และมีทีมที่รับผิดชอบโจทย์นั้น โดยทีมพิเศษ (Squad Team) ดังกล่าวจะดึงคนมาจากส่วนงานบนแท่งเดิม ออกมาทำงานอย่างถาวรโดยมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จได้เร็ว

สำหรับ Squad Team ต้องทำงานภายใต้ 4 แกนสำคัญ คือ ความต้องการลูกค้า (Customer Centric) การบริหารความเสี่ยง (Risk Culture) ความรวดเร็ว (Speed) และนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งคนในทีม จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากทุกองค์ประกอบ อาทิ Design Thinking, Customer Seqment, Data, Risk, Compliance

ส่วนแนวทางการทำงานแบบอไจล์ ได้เริ่มนำร่องแล้วจากทีมเท็นเอ็กซ์ (10X) ซึ่งเป็นทีมพิเศษที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้างองค์กรเดิม เป็นการรวมตัวคนรุ่นใหม่ นำแนวคิดใหม่มาร่วมพัฒนาบริการใหม่ให้แก่ลูกค้า พร้อมลองผิดลองถูกได้เร็ว

“วิธีการทำงานจะถอดแบบจากสตาร์ทอัพปรับมาให้เหมาะกับการทำงานใหม่ ที่ทำงานจะไม่ใช่คอกหรือโต๊ะแล้ว แต่จะกลายเป็นโค-เวิร์กกิ้ง สเปซ อย่างตึกธนาคารจะทยอยเปลี่ยน และส่วนตัวผม อีกไม่นานก็จะไม่มีห้องทำงานประจำ แต่จะเดินไปเดินมา ออกไปหาแต่ละหน่วย ดูว่าลูกน้องติดปัญหาอะไรหรือไม่” อาทิตย์ กล่าว

อาทิตย์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องยาก แม้จากการสื่อสารกับพนักงานและสหภาพ ได้รับการตอบรับที่ดี แต่ที่ยากคือระดับผู้ใหญ่ ดังนั้น การเปลี่ยนจะเริ่มต้นตั้งแต่ “ซีอีโอ” เพื่อให้เห็นว่าทุกส่วนต้องเปลี่ยนแม้แต่คนข้างบนก็ตาม เพราะวัฒนธรรมองค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ลงทุนมาตลอดจะเสียเปล่าใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย สิ่งที่ธนาคารลงทุนถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานแบบใหม่

การทรานส์ฟอร์มของธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มตั้งแต่กลางปี 2559 ธนาคารตั้งงบประมาณสำหรับโครงการนี้ไว้ 4 หมื่นล้านบาท และเข้าสู่ยุทธศาสตร์ “กลับหัว ตีลังกา” ที่ยืนยันว่าเป้าหมายหลักไม่ใช่การลดสาขา ลดคน แต่เป็นวิธีคิดเปลี่ยนแปลงองค์กรที่เป็นยักษ์ ให้มีความคล่องแคล่ว แนวคิดที่ทำให้ธนาคารสำเร็จในอดีต จากนี้ต้องทำตรงกันข้ามทั้งหมด

ไทยพาณิชย์เขย่าองค์กร ตั้ง 4 ขุนพลสู้ศึกแบงก์ อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์

เม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีทรานส์ฟอร์มธนาคาร ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 60-70% แต่สุดท้ายการพัฒนาบริการใหม่ๆ เช่น ดิจิทัลเลนดิ้ง หวังลดต้นทุน หรือ Bank as a Platform ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่การจะเปลี่ยนแปลงความสำเร็จ ต้องทำให้ธนาคารเป็นองค์กรที่เข้าใจความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง

“สิ่งที่ทีมสร้าง เช่น เอสซีบี อีซี่ ตอนนี้ยังไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ลูกค้าเห็นความสำคัญและอยากอยู่ด้วยตลอดเวลา อีซี่ยังคิดจากสิ่งที่เคยเป็น คิดในมุมแบงก์ ก็ตอบโจทย์ลูกค้าบ้าง แต่ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ลูกค้าอยากจะใช้ชีวิตบนนั้น ฉะนั้น ไม่ว่าลงทุนมากเท่าไรแต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสิ่งที่ลูกค้าเลือกได้ ทรานส์ฟอร์เมชั่น ไทยพาณิชย์ก็ไม่มีวันสำเร็จ”

อาทิตย์ ยอมรับว่า ทัศนคติ (Mindset) คนยังไม่เปลี่ยน เพราะบริษัทขนาดใหญ่อายุยาวนาน มักยึดตัวเองเป็นตัวตั้ง เพราะมีกรอบว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ทำมาเดิมสร้างกำไรจนยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ โดยไทยพาณิชย์ต้องพยายามก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ ซึ่งเริ่มต้น “ยากมาก” ในการเปลี่ยน Mindset ให้ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)

ปี 2562 เป็นปีที่เริ่มแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี เป็นการต่อยอดกลยุทธ์กลับหัว ตีลังกา ใน 2 มิติ คือ มิติธุรกิจเดิม ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ลงทุนไปให้ออกดอกออกผลมากที่สุด และมิติธุรกิจในอนาคต ที่มีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดยั่งยืน (Exponential) ผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เติบโตและใหญ่กว่าธุรกิจเดิมที่โตเฉลี่ยปีละ 5-6%