posttoday

หนี้ครัวเรือนพุ่ง12.3ล้านล. ยอดสินเชื่อบ้าน-รถยนต์นำโด่ง

13 ตุลาคม 2561

กสิกรเผยไตรมาส 2/2561 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มต่อเนื่องเร่งตัวตามสินเชื่อบ้าน-รถยนต์ จับตาดอกเบี้ยขึ้นทำให้มีภาระหนี้มากขึ้น

กสิกรเผยไตรมาส 2/2561 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มต่อเนื่องเร่งตัวตามสินเชื่อบ้าน-รถยนต์ จับตาดอกเบี้ยขึ้นทำให้มีภาระหนี้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2561 ขยับขึ้นมาที่ 12.34 ล้านล้านบาท เติบโต 5.7% ซึ่งยอดหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2561 ที่เพิ่มขึ้น 1.71 แสนล้านบาทจากไตรมาสแรก ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะ สินเชื่อบ้านคิดเป็นสัดส่วน 38% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส 2

อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังคงชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 77.5% ในไตรมาส 2/2561 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ (วัดจาก Nominal GDP) ที่ขยายตัวเร็วกว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ การขยับขึ้นของหนี้ครัวเรือน ดังกล่าวสะท้อนสภาพการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อ ที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ สินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นันแบงก์) สวนทางกับสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ที่มีบทบาทลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2561

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตดีขึ้นอาจส่งผลทำให้ยังคงเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพีในปี 2561 ขยับลงต่อเนื่องมาอยู่ ในกรอบ 77-78% ขยับสูงขึ้นกว่ากรอบคาดการณ์เดิมที่ 76.5-77.5% ต่อจีดีพี โดยเป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นมากกว่าที่คาดของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนตลอดช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สถานะที่เปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือน รวมถึง ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยของไทยจะเข้าสู่จังหวะขาขึ้น น่าจะมีผล บ้างต่อความสามารถในการชำระหนี้ของ ครัวเรือนบางกลุ่ม เช่น ครัวเรือนที่มีหนี้บ้านซึ่งกำลังจะพ้นช่วงดอกเบี้ยคงที่ใน ปีหน้า และ/หรือผู้ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในปีหน้า ซึ่งจากการวิเคราะห์ พบว่า หากอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น 0.50% อาจจะทำให้ภาระการผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ดังนั้น อาจคาดเดาได้ว่า หลังจากผ่านพ้นปีนี้ไป จะมีครัวเรือนบางส่วนที่มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม