posttoday

ธปท.ถกแบงก์เลื่อนIFRS9 เป็นห่วงลูกค้าเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ

07 มิถุนายน 2561

ธปท.-แบงก์ถกเครียดเลื่อนใช้ IFRS9 หวั่นกระทบเอสเอ็มอี แม้แบงก์จะพร้อม รอผลสรุปที่ประชุมกกบ.ชี้ขาด20มิ.ย.นี้

ธปท.-แบงก์ถกเครียดเลื่อนใช้ IFRS9 หวั่นกระทบเอสเอ็มอี แม้แบงก์จะพร้อม รอผลสรุปที่ประชุมกกบ.ชี้ขาด20มิ.ย.นี้

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยได้เข้าให้ข้อมูลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) ถึงความจำเป็นในการเลื่อน และผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ต่อการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แม้ธนาคารส่วนใหญ่จะพร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ก็ตาม

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามาตรฐาน IFRS9 ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะตั้งสำรองจากหนี้เสียที่เกิดขึ้นจริง แต่รวมไปถึงวงเงินสินเชื่อที่ไม่ได้ใช้ ที่ต้องนำไปคำนวณโอกาสที่จะสูญเสียและตั้งสำรองให้ครอบคลุมด้วย ดังนั้นลูกค้าอาจถูกตัดวงเงิน สินเชื่อที่ไม่ได้ใช้ หรือหากลูกค้าต้องการคงวงเงินไว้ก็อาจมีค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไปหรือไม่ หรือเลื่อนออกไปนานเท่าใด แม้ว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะเสนอให้เลื่อนออกไปเป็นปี 2565 โดยต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้

ขณะเดียวกัน ทาง กกร.ได้ตกลงที่จะศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 เพื่อให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจน โดยที่ประชุม กกร.ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 มีมติมอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นผู้ดำเนินการสำรวจผลกระทบ ซึ่งต้องดูรอบด้าน เช่น สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเท่าใดจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่

ก่อนหน้านี้ นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเมินเบื้องต้นจากการใช้ IFRS9 มีผลให้อัตราสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารเพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะปัจจุบันอัตราสำรองของธนาคารพาณิชย์ตั้งไว้เกินอยู่แล้ว และผลกระทบดังกล่าวน้อยกว่าเมื่อครั้งที่ใช้มาตรฐาน IAS39 เมื่อปี 2551 ที่มีผลให้สำรองเพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งในขณะนั้นธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยสำรองและซึมซับเกณฑ์ใหม่ ทำให้ผล กระทบไม่รุนแรงเมื่อมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม การใช้ IFRS9 สามารถยืดหยุ่นได้ ภายใต้กรอบของมาตรฐานบัญชี เช่น รายการนอกงบดุล ประเภทวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้อาจออกข้อกำหนดเพิ่มเติมที่สามารถผ่อนภาระการตั้งสำรองได้ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์บางแห่งตั้งสำรองตามความเสี่ยงในอนาคต (Possible Impaired Loan : PIL) ที่ทับซ้อนมาตรฐานใหม่ในบางส่วนอยู่แล้ว