posttoday

ดันเศรษฐกิจไม่ขึ้น บริโภคอ่อนแรง

28 เมษายน 2561

เศรษฐกิจของไทยยังขยายตัวได้แต่ก็อ่อนแอ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นฐานใหญ่ของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้การดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องยาก

เศรษฐกิจของไทยยังขยายตัวได้แต่ก็อ่อนแอ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นฐานใหญ่ของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้การดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องยาก

***************************

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2561 ของกระทรวงการคลังล่าสุด คงจีดีพีไว้เท่าเดิม 4.2% แม้ว่ายังขยายตัวได้ดีกว่าปี 2560 ที่ขยายตัวได้ 36.9% แต่การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2561 ก็ดูท่าจะเริ่มมาถึงทางตันไม่สามารถขยายตัวได้มากกว่า

ปัญหาสำคัญมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มอ่อนแรง และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ยอมขยับมากอย่างที่รัฐบาลคิด ทั้งที่มีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนจำนวนมาก ส่งผลให้คลังคงการขยายตัวการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนไว้เท่าเดิม

นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐก็เริ่มเป็นปัญหาใหญ่ฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมให้เพิ่มขึ้นไม่ได้ เพราะการใช้จ่ายภาครัฐก็หดตัว และการลงทุนภาครัฐก็ขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด ทำให้กระทรวงการคลังต้องปรับลดการขยายตัวของเครื่องยนต์ที่สำคัญนี้ลดลง

ด้านการส่งออกที่คลังปรับให้ขยายตัวเพิ่มเป็น 8% จากเดิม 6.6% ก็เป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกกดดันจากรัฐบาลให้ปรับประมาณการการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งที่มีความเสี่ยงจากการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอน และการแข็งค่าของเงินบาทไทยต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการส่งออกให้ขยายตัวไม่ได้ตามเป้า และจะเป็นตัวฉุดการขยายตัวภาพรวมให้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้

พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน มี.ค.และไตรมาสแรกปี 2561 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือน มี.ค. 2561 ส่งสัญญาณอ่อนแรงลง การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือน มี.ค. 2561 หดตัวขยายตัวติดลบ 1.6% โดยเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าที่หดตัว ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขยายตัว

ขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน มี.ค. 2561 หดตัวขยายตัวติดลบ 1.7% ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวขยายตัวติดลบ 2.9% เกิดจากการหดตัวของรายได้เกษตรกร ทำให้ไตรมาสแรกปี 2561 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวขยายตัวติดลบ 1.7%

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือน มี.ค.และไตรมาสแรกปี 2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 2561 ขยายตัว 17.5% โดยมีปัจจัยหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึง 15% ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2561 ขยายตัว 13%

อย่างไรก็ดี ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือน มี.ค. 2561 หดตัวขยายตัวติดลบ 1% แต่หากพิจารณาทั้งไตรมาสแรกปี 2561 สามารถขยาย 8.9% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 2561 กลับมาขยายตัวที่ 3.8% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวติดลบ 0.4%

ดันเศรษฐกิจไม่ขึ้น บริโภคอ่อนแรง

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน มี.ค. ขยายตัวตัว 7.1% ทำให้ไตรมาสแรกปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 11.3% ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 11.7% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน มี.ค. 3.5 ล้านคน ขยายตัว 16.3% ส่งผลทำให้ไตรมาสแรกปี 2561 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 10.6 ล้านคน ขยายตัว 15.4% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 5.73 แสนล้านบาท ขยายตัว 19%

อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 2561 หดตัวขยายตัวติดลบ 8.5% ซึ่งเป็นการหดตัวของราคาในหมวดพืชผล จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่หดตัวเป็นสำคัญ เป็นผลทำให้ในไตรมาสแรกปี 2561 หดตัวขยายตัวติดลบ 12.3%

ที่สำคัญอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค 2561 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน4.4 แสนคน ทำให้ในไตรมาสแรกปี 2561 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งแม้ว่ากระทรวงการคลังจะยังยืนยันว่าเป็นระดับต่ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการว่างงานของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากที่ก่อนหน้านี้การว่างงานจะอยู่ระดับต่ำกว่า 1% ของกำลังแรงงานรวม

การว่างงานที่เพิ่มขึ้นยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจฐานรากของไทยยังมีปัญหา รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ขณะที่ ธปท.ก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนของเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยยังเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจฐานรากทำได้ไม่ดี

จากข้อมูลเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังล่าสุดจึงแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของไทยยังขยายตัวได้แต่ก็อ่อนแอ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นฐานใหญ่ของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้การดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องยาก กระทรวงการคลังจึงต้องคงประมาณการเศรษฐกิจไว้เท่าเดิม และต้องลุ้นในการปรับประมาณการครั้งต่อไปว่าจะยันไว้เท่าเดิมโดยไม่ต้องปรับลดได้หรือไม่