posttoday

ธปท.เตือนแบงก์รับมือพร้อมเพย์ยอดพุ่งคนนิยมใช้โอนเงิน

15 มีนาคม 2561

ธปท.กำชับแบงก์วางระบบรองรับคนแห่ใช้พร้อมเพย์หวั่นล่ม ครบรอบ 1 ปี ยอดทะลัก 127 ล้านรายการ โอนเงิน 4.9 แสนล้าน

ธปท.กำชับแบงก์วางระบบรองรับคนแห่ใช้พร้อมเพย์หวั่นล่ม ครบรอบ 1 ปี ยอดทะลัก 127 ล้านรายการ โอนเงิน 4.9 แสนล้าน

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ กำชับสถาบันการเงินเพิ่มความสามารถของระบบให้รองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนต์) ที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนทำธุรกรรมสูงสุด (พีก) ของเดือนต้อง เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าไม่ให้การทำธุรกรรมของประชาชนสะดุด รวมทั้งให้เตรียมการแผนรองรับหากมีปัญหาเกิดขึ้นต้องมีกระบวนการแก้ไขอย่างไร

ทั้งนี้ ครบ 1 ปีที่ผ่านมา มีการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ 127 ล้านรายการ มูลค่ารวมกว่า 4.9 แสนล้านบาท โดยยอดเฉลี่ยการโอนเงินน้อยลงเรื่อยๆ จากช่วงแรก 6,000-7,000 บาท/รายการ ในปัจจุบันเหลือเพียง 3,500-3,800 บาท/รายการ โดย ณ.วันที่ 28 ก.พ.มีธุรกรรมการโอนสูงสุด 1.1 ล้านรายการ มูลค่า 2,589 ล้านบาท/วัน และยังมีการใช้คิวอาร์โค้ดในชีวิตประจำวันมากขึ้นจากร้านค้าที่รับ คิวอาร์โค้ดที่มีจำนวนหลายแสนแห่ง

"ครบรอบใช้พร้อมเพย์ 1 ปีแรก เป็นที่น่าพอใจ โดยเป้าหมายในปีที่ 2 อยากเห็นการใช้อี-เพย์เมนต์มากขึ้น ซึ่งเทียบในภูมิภาคไทยอยู่อันดับ 2-3 ใกล้กับมาเลเซีย ตามหลังสิงคโปร์" น.ส. สิริธิดา กล่าว

สำหรับแนวโน้มการชำระเงิน อี-เพย์เมนต์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นสังคมไร้เงินสด โดยเฉพาะการใช้พร้อมเพย์ 1 ปีที่ผ่านมา มี ผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ 39 ล้านเลขหมาย โดย 66% หรือประมาณ 26.7 ล้านเลขหมายเป็นบัญชีผูกกับบัตรประชาชน เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับภาครัฐ เช่น การคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ โดยธุรกรรมพร้อมเพย์เกิดบนสมาร์ทโฟนสัดส่วนถึง 90% นอกจากนี้ยังต้องการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี หันมาใช้อี-เพย์เมนต์เพิ่มมากขึ้น

น.ส.สิริธิดา กล่าวด้วยว่า หลังจาก ธปท.เปิดให้เข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory sandbox) ขณะนี้มีความคืบหน้าในส่วนของ Blockchain ที่กำลังจะก้าวไปสู่เฟส 2 ในการขยายการให้บริการไปสู่หลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น หลังจากที่มีการทดลองการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศและกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง Biometric หรือ เทคโนโลยีชีวภาพ โดยจะมีการสแกนใบหน้าด้วยสมาร์ทโฟน เพื่อยืนยันตัวตน (KYC)