posttoday

ค่าเงินบาทอ่อน พิษการค้าจีนหดสงครามการค้ายังร้อน

27 พฤษภาคม 2562

ผลกระทบจากตัวเลขผลกำไรภาคธุรกิจของจีนและพัฒนาการสงครามการค้าต่อเงินบาท

ผลกระทบจากตัวเลขผลกำไรภาคธุรกิจของจีนและพัฒนาการสงครามการค้าต่อเงินบาท


************************

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week)โดย...พีรพรรณ สุวรรณร์ตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในกรอบ 31.70 – 32.10 ในช่วงวันที่ 27-31 พฤษภาคม เงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า เนื่องจากทางการจีนจะมีประกาศตัวเลขกำไรของภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจของจีนที่อ่อนแอ

ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้เงินหยวนและค่าเงินประเทศที่เชื่อมโยงกับจีนสูงรวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากพัฒนาสงครามการค้าที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย

ด้านไทย จะมีการประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งคาดว่าจะเกนดุลลดลงจะเป็นปัจจัยให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย ขณะเดียวกันสหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขจีดีพีและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งหากตัวเลขออกมาลดลงอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวน โดยอ่อนค่าลงต่อเนื่องเกือบตลอดสัปดาห์ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลังของสัปดาห์ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเปิดตลาดอ่อนค่าลงจากราคาปิดในสัปดาห์ก่อนหน้าตามการอ่อนค่าของเงินหยวน โดยเปิดตลาดตลาดที่ระดับ 31.83 จากประเด็นความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนหลังจากที่ บริษัทกูเกิลประกาศระงับให้บริษัทหัวเหว่ยเข้าถึงระบบปฏิบัติการและแอพพลิเคชันของตนหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มชื่อบริษัทหัวเว่ยในกลุ่มที่ถูกห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ประกอบธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เตือนว่าสงครามการค้าจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกชะงักงันและกระทบต่อการลงทุน

นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากปัจจัยในประเทศหลังการประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาสที่ 1 ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ชะลอลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี เงินบาทยังโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางสัปดาห์หลังจากกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกไทยมาตรฐานศุลกากรเดือนเมษายนหดตัวลง 2.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์จากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ปรับลดลงเนื่องจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit) ของสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2016 ส่งผลให้เงินบาทปิดตลาดที่ 31.853 (ณ เวลา 17.15 น.)

ค่าเงินบาทอ่อน พิษการค้าจีนหดสงครามการค้ายังร้อน

ตลาดพันธบัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีปัจจัยที่ยังสนับสนุนให้นักลงทุนยังคงอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk off mode) และเลือกถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยประเด็นหลักๆ ยังคงเป็นเรื่องของสงครามการค้าที่ดูทีท่ารุนแรงขึ้น โดยล่าสุดสหรัฐอาจเปลี่ยนกลยุทธ์การกีดกันการค้าจากวิธีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามาเป็นมาตรการป้องกันการส่งออก ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าในท้ายสุดแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ เองในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการประกาศตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาสที่ 1 ปี2019 ที่ออกมาขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่ปี 2015 โดยจีดีพีไทยไตรมาสที่ 1 ขยายตัวเท่ากับที่ตลาดคาดที่ 2.8%YoY โดยปัจจัยที่ฉุดการขยายตัวมาจากส่งออกสินค้าเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน สศช. ยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ลงจากประมาณการเดิมที่กรอบ 3.5%-4.5% มาเป็น 3.3%-3.8% ในขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงมาอยู่ที่ 3.2% จากที่เคยคาดไว้ที่ 3.9% ในปีก่อนหน้า โดยประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะขยายตัวที่ 2.3% และ 6.2% ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวโดยมีความชันลดลง ซึ่ง ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.80% 1.83% 1.89% 2.09% 2.26% และ 2.49% ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้เอกชนในตลาดรองกลับมามีปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากมุมมองที่นักลงทุนคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2019 ทำให้นักลงทุนบางส่วนกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกู้เพื่อเป็นการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Enhanced Yield)

ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,337 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,074 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 6,257 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 846 ล้านบาท