posttoday

วิธีพัฒนาความฉลาดทางการเงิน 

12 กรกฎาคม 2561

คำว่า “ความฉลาดทางการเงิน” หรือ Money Literacy เป็นคำที่มีการพูดถึงกันเยอะ ในหนังสือการเงินส่วนบุคคลสมัยใหม่

โดย..จักรพงษ์ เมษพันธุ์

คำว่า “ความฉลาดทางการเงิน” หรือ Money Literacy เป็นคำที่มีการพูดถึงกันเยอะ ในหนังสือการเงินส่วนบุคคลสมัยใหม่

พูดกันเยอะ ได้ยินกันบ่อย หลายคนเลยถามว่า ไอ้เจ้า “ความฉลาดทางการเงิน” เนี่ย มันคืออะไร

เพราะถ้าจะศึกษาให้ครบถ้วน รอบด้าน ก็ต้องบอกว่า ความฉลาดทางการเงิน ก็คือ ความสามารถในการหารายได้ บริหารค่าใช้จ่าย เก็บออม และลงทุน ซึ่งฟังดูแล้วกว้างมาก

[สนใจศึกษาความรู้การเงินส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน แนะนำอ่านหนังสือ คนไทยฉลาดการเงิน เขียนโดย จักรพงษ์ เมษพันธุ์​ ถนอม เกตุเอม และศักดา สรรพปัญญาวงศ์]

แต่ถ้าจะสรุปให้สั้นและง่าย “ความฉลาดทางการเงิน”​ ก็คือ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางการเงินของตัวเอง

คนเคยมีรายได้น้อย แล้วเพิ่มพูนศักยภาพตัวเอง เปลี่ยนอาชีพจนมีรายได้เพิ่มได้ แบบนี้ก็เรียก มีความฉลาดทางการเงินในการสร้างรายได้เพิ่ม

คนเคยมีหนี้เหนื่อยหนัก อดทนกัดฟัน ควบคุมค่าใช้จ่าย หารายได้เสริม จนค่อยๆ ปลดหนี้ได้ แบบนี้ก็เรียก มีความฉลาดทางการเงินในการแก้ปัญหาหนี้

คนไม่เคยเก็บออมเงินได้ เริ่มเก็บออมเงิน ใช้วิธีเก็บออมแบบอัตโนมัติ เริ่มจัดการเงินได้อยู่หมัด ไม่รั่วไหล แบบนี้ก็เรียก มีความฉลาดทางการเงินในการเก็บออม

หรือคนที่เคยลงทุนกี่ทีก็เจ๊ง เพราะเอาแต่ถามกับฟัง แล้วก็เชื่อแบบไม่รู้เรื่อง เริ่มต้นศึกษาพื้นฐานการลงทุน เริ่มต้นศึกษาหุ้นแต่ละบริษัทอย่างจริงจัง เริ่มลงทุนเป็นลงทุนแล้วนอนหลับฝันดี แบบนี้ก็เรียก มีความฉลาดทางการเงินในการลงทุนหุ้น แบบนี้ เป็นต้น 

ดังนั้น ความฉลาดทางการเงินของคนเรา จะพัฒนาไปได้ดี และเร็ว เมื่อเราพยายามที่จะเรียนรู้แก้ไขปัญหาที่พบด้วยตัวเอง รู้สึกทนไม่ได้ ชีวิตไม่เป็นเหมือนที่อยากเป็น ไม่นิ่งดูดาย และ
ไม่รอคอยความช่วยเหลือ

แต่ก็นั่นแหละ! ความรู้ทางการเงิน เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เรียนกันในโรงเรียน ดังนั้น หลายครั้งพอเจอปัญหา เราก็อาจต้องอาศัยคำแนะนำจากคนอื่น หรือต้องถามผู้รู้ผมเองได้รับคำถามแบบนี้ทุกวัน วันละเยอะมากจนตอบไม่ทัน บางครั้งเห็นคำถามแล้วก็รู้สึกเหนื่อย

เพราะน้อยคนที่จะลองคิดคำตอบ หรือแนวทางของตัวเองมาก่อน มาถึงก็เล่าเรื่อง แล้วถามเหมือนเชิงคิดให้หน่อยว่าทำยังไง

ตรงกันข้ามกับบางคนที่เล่าเรื่องตัวเอง แล้วก็บอกวิธีคิดหรือแนวทางแก้ปัญหาของตัวเองมาด้วย ในมุมของผม คนในแบบหลังนี่แหละที่จะพัฒนาความฉลาดทางการเงินให้กับตัวเองได้เร็วกว่า เพราะถ้าคิดมาผิด ก็จะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องกลับไป และเรียนรู้ได้เร็วกว่า เพราะใช้สมองเรียนรู้แนวทาง และประเมินทางเลือกให้กับตัวเองมาแล้ว

ผิดกับกลุ่มแรก ที่เดี๋ยวมีปัญหา ก็กลับมาถามอีก 

หลายครั้งผมจึงมักถามพวกเขากลับไปเสมอว่า “แล้วเรามีแผนจะทำ หรือแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง?”

หลายครั้งปลายทางตอบกลับ หลายครั้งเงียบไปเลย ไม่ติดต่อใดๆ กลับมา และหลายครั้งต่อว่ากลับมาเล็กน้อยพองามประมาณ ถ้ากูรู้แล้วจะมาถามมึงมั้ย สัส!”

ก็ทั้งหมดสุดแท้แต่ เพราะผมเชื่อเสมอว่า ถ้าเป็นครูใจร้าย ที่ไม่หวังให้คนเรียนเติบโต และได้ดีด้วยตัวเอง ผมก็จะบอกทุกอย่าง เหมือนเขียนใบจ่ายยา

แต่ด้วยวิธีที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นอยากช่วยให้แก้ปัญหาเองได้ และเปลี่ยนเขาเป็น Active Learner เป็นคนที่จะหาทางเรียนรู้และช่วยเหลือตัวเอง และที่สำคัญ หัด “คิดเอง” เองก่อน เพื่อประมวลความรู้ที่อ่าน ที่ดู และค้นคว้ามา (และที่ดีสุด คือ ลดภาระกูในอนาคตด้วย)

ผมเชื่อเสมอว่าการสร้างความฉลาดทางการเงินเป็นเรื่องสนุก! และในท้ายที่สุด คนที่ไม่หยุดคิดหาคำตอบ ไม่หยุดเรียนรู้ จะกลายเป็นคนที่เก่งเรื่องเงิน และสร้างความมั่งคั่งได้ในที่สุด

เป็นกำลังใจให้ทุกชีวิตที่มุ่งมั่นสู่อิสรภาพทางการเงินครับ