posttoday

กองทุน ESG ดีต่อใจ ลดเสี่ยง

13 มิถุนายน 2561

มันนี่ทิปฉบับนี้ขอเกาะกระแสการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดขยะให้โลก

โดย...พูลศรี เจริญ

มันนี่ทิปฉบับนี้ขอเกาะกระแสการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดขยะให้โลก

ถามว่าแล้วเรื่องการลงทุนจะนำมาผูกโยงหรือร่วมรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร คำตอบคือ ได้ นั่นก็คือการลงทุนในกองทุน ESG นั่นเอง

กองทุน ESG หรือ Sustainability เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่มีการจัดการที่ดีใน 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้

1. E (Environmental) = สิ่งแวดล้อม

2. S (Social) = สังคม

3. G (Governance) = ธรรมาภิบาล

เมื่อประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบเข้ากันแล้ว เชื่อว่าจะนำมาซึ่งการลงทุนที่มีความยั่งยืนในระยะยาว (Sustainable Investing) นั่นเอง

การลงทุนในกองทุน ESG นอกจากดีต่อใจแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการลดความเสี่ยงทางการลงทุนไปในตัวด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทมีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล เป็นอย่างดีแล้วนั้น โอกาสที่จะเกิดเรื่องฟ้องร้องต่างๆ จนเกิดค่าใช้จ่าย ค่าปรับ ตลอดไปจนถึงทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียงแล้วนั้นคงน้อยลง

หากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในการลงทุน ควรตรวจสอบดูให้แน่ใจว่ากองทุนที่ลงทุนอยู่นั้นได้ให้ความสำคัญกับหลักการ ESG รวมทั้งต้องมีการจัดการที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเงินอีกด้วย

การลงทุนอย่างยั่งยืน เป็นการประเมินบริษัทบนพื้นฐานของ ESG นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่

ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ ระบุว่า แนวความคิดในการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมมีขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 และเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้วที่มอร์นิ่งสตาร์เริ่มจัดอันดับความยั่งยืนของกองทุนรวม โดยใช้ข้อมูล ESG จากบริษัท Sustainalytics ในการจัดทำ Morningstar sustainability rating ซึ่งมีอันดับตั้งแต่ 1 (ต่ำสุด) ถึง 5 (สูงสุด) ซึ่งใช้สัญลักษณ์เป็นรูปลูกโลก (Globes)

ในเว็บไซต์มอร์นิ่งสตาร์ Jon Hale ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความยั่งยืนของมอร์นิ่งสตาร์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกองทุน ESG ได้อย่างน่าสนใจดังนี้ 

คำถามแรก หลายคนเข้าใจว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนนั้น คือการหลีกเลี่ยงการลงทุนในบางกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแท้จริงแล้วไม่เสมอไป วิธีที่มอร์นิ่งสตาร์ใช้คือจะประเมินแต่ละบริษัท โดยดูว่าบริษัทนั้นๆ มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดีแค่ไหน 

คำตอบคือ ใช่ หากให้พูดถึง ESG ก็คือการนำเอาปัจจัยเกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือธรรมาภิบาลมาพิจารณา ว่าบริษัทมีการจัดการในด้านต่างๆ เหล่านั้นดีขนาดไหน

คำถามที่ 2 ตามวิธีคิดของมอร์นิ่งสตาร์คือ จะไม่หักคะแนนบริษัทในบางกลุ่มอุตสาหกรรมใช่ไหม

คำตอบในข้อนี้คือ ใช้วิธีเปรียบเทียบเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ มอร์นิ่งสตาร์จะแบ่งภาคอุตสาหกรรมย่อยออกเป็นประมาณ 150 กลุ่ม และจึงมาประเมินปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลของกลุ่มนั้นๆ

โดยส่วนใหญ่แล้วปัจจัยด้านธรรมาภิบาลจะมีความคล้ายคลึงกันในหลายอุตสาหกรรม

แต่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยทั่วไปมักมีความเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม

คำถามที่ 3 บางคนตั้งคำถามว่าการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อลงทุนตามแนวทาง ESG นั้น เป็นการใช้เงินโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่  

คำตอบคือ พบว่ากองทุนที่มีการคำนึงถึง ESG ในการลงทุน หรือที่เรียกว่ากองทุน ESG นั้น มีแนวโน้มที่จะได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่า (ได้ดาวมากกว่า)

กองทุน ESG ดีต่อใจ ลดเสี่ยง

นั่นหมายความว่าผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงแล้วมีแนวโน้มที่ดีกว่ากองทุนทั่วไป

จริงๆ แล้วมีหลายวิธีในการนำเอา ESG มาปรับใช้ในการลงทุน

ดังนั้น การที่ ESG ส่งผลกับผลตอบแทนที่ดีนั้น คิดว่าน่าจะเป็นเพราะบริษัทมีการวิเคราะห์ด้านการเงินที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ใช่มาจากการลงทุนตามหลักการเพียงอย่างเดียว

แนวคิดเริ่มแรกเกี่ยวกับการลงทุนที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investing) คือเราสามารถเลือกลงทุนอย่างมีหลักการ

ต่อมาได้มีการนำเอาหลัก ESG มาวิเคราะห์ ทำให้พบว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุอยู่ในงบการเงิน

ปัจจัยเหล่านี้มักมาจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาสูบ การพนัน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือวิธีการจัดการกระบวนการผลิต การจัดการทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ว่าดีหรือไม่

สิ่งต่างๆ เหล่านั้น รวมไปถึงการมีธรรมาภิบาลที่ดี ล้วนแต่เป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องยึดถือหลักการอะไรมากไปกว่า การบอกตัวเองว่า “เราอยากลงทุนในบริษัทที่ดีมีคุณภาพ”

ในปัจจุบันทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตสนใจในผลกระทบที่จะตามมามากขึ้น

ซึ่งตรงกับที่ Larry Fink ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ BlackRock บริษัทจัดการลงทุนระดับโลก กล่าวไว้ว่าหากอยากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว ก็ควรตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าบริษัทที่เราลงทุนอยู่นั้นมีการจัดการที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการเงินหรือไม่ 

มาถึงตรงนี้ ใครที่สนใจลงทุนในกองทุน ESG หุ้นไทย ก็มีให้เลือกหลายกองทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่มีการประกาศอยู่ในนโยบายการลงทุนเลยว่าจะเน้นลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีการบริหารจัดการเรื่อง ESG เป็นอย่างดี หรือบางกองทุนอาจจะเน้นเพียงเรื่องของธรรมาภิบาล อย่างเดียว ซึ่งในปัจจุบันก็มีอยู่หลายกองทุนที่มีการประกาศตัวเองเช่นนั้น 

ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมคนไทยใจดี (ฺBKIND)

กองทุนเปิด ทิสโก้ ESG เพื่อสังคม (TISESG-S)

กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (ฺBSIRIRMF)

กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว(CG-LTF)

กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล เพื่อการเลี้ยงชีพ (CG-RMF)

กองทุนเปิด วรรณ แอนไท คอรัปชั่น 70 หุ้นระยะยาว (ONE-ACT70 LTF)