posttoday

ทบทวนเงื่อนไข LTF/RMF กันอีกครั้ง

21 ธันวาคม 2559

โดย ธนัย เจริญกุล กองทุนบัวหลวง

โดย ธนัย เจริญกุล  กองทุนบัวหลวง

ในช่วงสองปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การลงทุน LTF/RMF แม้อาจมิใช่สาระสำคัญ หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง แต่นักลงทุนอาจยังคุ้นกับหลักเกณฑ์แบบเดิม แล้วเผลอสับสนนำไปปฏิบัติ จึงสมควรต้องทบทวนให้เข้าใจตรงกันอีกครั้ง

-แก้ไขคำนิยาม “เงินได้” ที่ใช้เป็นฐานคำนวณสิทธิซื้อหน่วยลงทุน

ในปี 2558 กรมสรรพากรได้ออกประกาศ1แก้ไขเกณฑ์พิจารณาเกี่ยวกับ “เงินได้” ที่นำมาคำนวณสิทธิชื้อหน่วยลงทุนทั้ง LTF และ RMF ซึ่งเดิม สำหรับ LTF ใช้ว่า “เงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น” เปลี่ยนเป็น “เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น” และสำหรับ RMF เดิมใช้ว่า “เงินได้ที่ได้รับในแต่ละปี” เปลี่ยนเป็น “เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี”  นัยว่าเพื่อให้ชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น “เงินได้พึงประเมิน” นั้นก็คือเงินรายได้ของบุคคลระหว่าง 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคมของแต่ละปีตามเกณฑ์เงินสด ที่สรรพากรกำหนดให้นำมาคิดคำนวณภาษีนั่นเอง

กล่าวอีกอย่างคือ เงินได้ที่นำมาคำนวณสิทธิเพื่อซื้อ LTF/RMF ต้องคิดคำนวณจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

สมมติว่าท่านมีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนและโบนัส แต่ยังมีรายได้เพิ่มเติมในปีนี้จากการขายคืนหน่วยลงทุน LTF ที่เข้าเงื่อนไข จะเห็นได้ว่าท่านมีเงินได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือเงินเดือนและโบนัสนั้นต้องเสียภาษีรายได้บุคคลประจำปี และส่วนที่สองเงินได้ (กำไร) จาก LTF เป็นเงินได้ที่เข้าข่ายยกเว้นจ่ายภาษีเงินได้

วิธีคำนวณแบบเดิม: (เงินเดือน+เงินโบนัส+กำไรจากขายคืน LTF) X 15 เปอร์เซ็นต์ = สิทธิซื้อ LTF/RMF โดยสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

วิธีคำนวณในปัจจุบัน: (เงินเดือน+เงินโบนัส) X 15 เปอร์เซ็นต์ = สิทธิซื้อ LTF/RMF โดยสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

หากผู้ลงทุนมีรายได้เฉพาะเงินเดือนรวมเงินโบนัส โดยไม่มีรายได้อื่นใดที่ได้รับยกเว้นภาษี ก็จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แต่หากเคยนำรายได้อื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียภาษีมาคำนวณรวมเพื่อขยายฐานรายได้ หรือเพิ่มฐานตัวคูณ 15 เปอร์เซ็นต์ เช่นนำผลกำไรจากขายคืน LTF/RMF ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ มารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณสิทธิ ในวันนี้ทำเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้ว

หมายเหตุ : สำหรับเงินลงทุนใน RMF นั้น เมื่อรวมกับเงินที่สะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฏหมายโรงเรียนเอกชน และเบี้ยประกันแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
 
 -ขยายระยะเวลาถือครอง LTF เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

กระทรวงการคลังได้ประกาศใช้กฎกระทรวง2 ให้ขยายระยะเวลาถือครอง LTF จากเดิม 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน สำหรับผู้ซื้อ LTF ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 จนถึง 31 ธันวาคม 2562 เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไป

นั่นหมายถึงหากนักลงทุนซื้อหน่วยลงทุน LTF ในปี 2559 (1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2559) เช่นซื้อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 (วันทำการสุดท้ายของปี 2559) จะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนที่ซื้อได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นไป เพราะถือครองครบ 7 ปีปฏิทินแล้ว

หากท่านผู้ลงทุนที่เริ่มต้นซื้อหน่วยลงทุน LTF ในปี 2559 เป็นปีแรก ก็ไม่น่าห่วง เพราะจะเริ่มต้นด้วยกฎเกณฑ์ใหม่เลย แต่หากเป็นผู้ลงทุนรายเก่าต่อเนื่องมา ก็ต้องจดจำให้ดีว่า เงินลงทุนก้อนที่ซื้อ LTF ต้องมีการถือครองที่ต่างกัน ดังนี้:

- เงินลงทุนก่อนหน้าวันที่ 1 มกราคม 2559 ต้องถือครอง 5 ปีปฏิทินเป็นอย่างต่ำ

- เงินลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ต้องถือครอง 7 ปีปฏิทินเป็นอย่างต่ำ

หากขายคืนผิดเงื่อนไขแล้ว อาจต้องเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับ เช่น ซื้อในปี 2559 (เข้าเกณฑ์ 7 ปีปฏิทิน) แต่ขายในปี 2563 (ถือครองแค่ 5 ปีปฏิทิน) ซึ่งผิดเงื่อนไข จำต้องยอมนำผลกำไรที่ได้จากขายคืนหน่วยลงทุน ไปรวมเป็นเงินได้ประจำปีเพื่อประเมินภาษีเงินได้ แล้วยังต้องคืนเงินที่ได้จากการลดหย่อนรวมถึงเงินเพิ่มตามเงื่อนไขแก่กรมสรรพากรอีกด้วย

แต่หลายคนอาจเริ่มลังเลที่จะเริ่มลงทุนหรือลงทุนต่อใน LTF เพราะเห็นว่าเวลาที่บังคับถือครอง 7 ปีปฏิทินนั้น ยาวนานเกินไป จนกระทบต่อกระแสเงินสดของตนเอง ก็อาจต้องพิจารณาจัดสัดส่วนเงินลงทุนใน LTF เสียใหม่ ให้เหมาะกับกระแสเงินสดของตน หรือมิเช่นนั้นอาจวางแผนซื้อ LTF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพื่อให้ได้กระแสเงินสดจากเงินปันผลกลับคืน ระหว่างเวลาที่ยังไม่ครบตามเงื่อนไขการลงทุนของ LTF

อย่างไรก็ตาม แม้เหตุผลที่ผู้ลงทุนสนใจ LTF ก็คือสิทธิประโยชน์ในทางภาษี แต่การซื้อหน่วยลงทุน LTF ก็คือการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งควรต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอและในระยะยาว เพื่อเอาชนะความผันผวนของตลาดตามหลักการลงทุนในตราสารทุนหรือกองทุนหุ้นทั่วไป แม้เมื่อถือครอง LTF ครบตามเงื่อนไขแล้ว ก็สามารถถือครองต่อไปได้ ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นอาจมากกว่าที่ได้จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีเสียอีก
หมายเหต : กฎหมายที่ใช้อ้างอิง

1. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 257-259
    
- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 257) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว

- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 258) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 259) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
2. กฎกระทรวง ฉบับที่ 317 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร