posttoday

เมืองไทยฯดูแลโรคเบาหวานคิดเบี้ยถูกแพงตามค่าน้ำตาล

25 เมษายน 2561

ผู้ป่วยโรคเบาหวานยิ้มออก เมืองไทยประกันชีวิตขายความคุ้มครองใหม่ ใครเป็นโรคอยู่แล้วทำประกันได้ คิดเบี้ยตามค่าน้ำตาลในเลือด

ผู้ป่วยโรคเบาหวานยิ้มออก เมืองไทยประกันชีวิตขายความคุ้มครองใหม่ ใครเป็นโรคอยู่แล้วทำประกันได้ คิดเบี้ยตามค่าน้ำตาลในเลือด

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดตัวแบบประกันใหม่ “เบาหวานเบทเทอร์แคร์ (Bao Wan BetterCare)” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว สามารถทำประกันสุขภาพได้ โดยทำควบคู่กับการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดค่าเบี้ยประกัน

อย่างไรก็ตาม “เบาหวานเบทเทอร์แคร์” เป็นแบบประกันภัยสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยเฉพาะ ขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ www.mtlBetterCare.com โดยความคุ้มครองครอบคลุมทั้งกรณีเจ็บป่วยและเสียชีวิตมีความคุ้มครอง 3 แพ็กเกจทุนประกัน 7.5 แสนบาท 1.5 ล้านบาท และ 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ เกณฑ์ของผู้ที่เอาประกันคือ ต้องเป็นผู้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 มาไม่เกิน 15 ปี มีอายุระหว่าง 21-70 ปี มีระดับน้ำตาลสะสม หรือ HbA1c ไม่เกิน 10 ไม่ใช้อินซูลิน และไม่เคยมีโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานมาก่อน โดยที่ระยะเวลาเอาประกันภัย 2 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย 2 ปี โดยชำระเบี้ยประกันภัยราย 6 เดือน และเบี้ยประกันภัยสามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามเกณฑ์ของกรมสรรพากร

สำหรับจุดเด่น คือ การให้สิทธิผู้เอาประกันภัยสามารถควบคุมค่าเบี้ยของตนเองได้ โดยจะใช้ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ของตนเองเป็นตัวตั้งคือ หากระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ของผู้เอาประกันภัยลดลง เบี้ยประกันก็จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งส่วนลดที่ได้รับสามารถลงได้ถึง 49% โดยที่ความคุ้มครองคงเดิม การปรับเบี้ยนี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 6 เดือน เมื่อผู้เอาประกันภัยส่งผลระดับน้ำตาลสะสมในเลือด HbA1C ใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์และสามารถทราบและชำระเบี้ยในอัตราใหม่ได้ทันที เช่น ชายอายุ 40 ปี ค่าน้ำตาลสะสมในเลือดไม่เกิน 8 ค่าเบี้ย 9,600 บาท ทุนประกัน 7.5 แสนบาท

นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานทั้งระยะแรก (กลุ่มที่ 2) และระยะรุนแรง (กลุ่มที่ 1) รวมถึงยังได้สิทธิในการเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) จากการเจ็บป่วยทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานก็ได้ และการเปลี่ยนถ่ายไตและการฟอกไตจากโรคเบาหวาน และยังสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่ถูกพัฒนามาเพื่อการดูแลและช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เป็นโรคเบาหวานได้

ทั้งนี้ แบบประกันดังกล่าวเป็นครั้งแรกในธุรกิจประกันชีวิต ภายใต้ Insurance Regulatory Sandbox ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงรับผู้เอาประกัน 1,000 รายก่อน คาดว่าเมื่อออกจาก แซนด์บล็อกได้ภายใน 1 ปี จะพัฒนามาขายได้ในทุกช่องทางปกติต่อไป