posttoday

แห่ลงทุนคริปโตเคอเรนซี่3ปี 1.1 ล้านบัญชี

19 สิงหาคม 2564

ก.ล.ต. แจงแห่ลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ 3 ปี 1.1 ล้านบัญชี เป็นห่วงหน้าใหม่เสี่ยงหมดตัว เนื่องจากมีความเสี่ยงและผันผวนสูง

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงเรื่องความท้าทายการกำกับดูแลและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ในงาน Posttoday Cryptocurrency Forum 2021 สินทรัพย์ดิจิทัล ทางเลือกการลงทุนใหม่ หรือแค่ช่องทางเก็งกำไร ว่า การกำกับดูเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. ต้องย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา หรือ ปี 2561 ที่ภาครัฐมีความกังวลการใช้สินทรัยพ์ดิจิทัลไปฟอกเงิน ไปทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือนำไปหลอกลวงประชาชน และมีความเสี่ยงของราคาที่มีความผันผวนมาก จึงมีการออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล

ซึ่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ให้อำนาจ ก.ล.ต. กำกับดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งมีความหมายกว้าง ซึ่งรวมทั้ง คริปโตเคอเรนซี่ และ โทเคนดิจิทัล ในส่วนคริปโตเคอเรนซี่ เป็นเหมือนสกุลเงินดิจิทัลมีมีการแลกเปลี่ยนกัน สำหรัล โทเคนดิจิทัล แบ่งออกเป็น โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และ โทเคนดิจิทัลเพื่อแลกสินค้าบริการ

ทั้งนี้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. แบ่งออกเป็น 3 เรื่องที่สำคัญ

1 การออกเสนอขายการระดมทุนของสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่การขออนุญาต ต้องมีการยื่นข้อมูล มีตัวกลางเหมือนที่ปรึกษาการเงินทำการตรวจโครงการที่เสนอมาอีกที ซึ่งปัจจุบันที่ปรึกษาการเงินสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 4 ราย

2 การดูแลการทำหน้าที่ของตัวกลางที่เป็นให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วยศูนย์ซื้อขายหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีโบรกเกอร์ มีนายหน้า ทั้งหมดมี 11 ราย ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยการเสนอแนะของ ก.ล.ต. ผู้ที่ได้รับอนุญาตต้องทำตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น มีทุนเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และรองรับความเสี่ยง ความพร้อมของระบบงาน การเก็บรักษาข้อมูล การแบ่งแยกทรพย์สินค้าของลูกค้ากับบริษัท เป็นต้น

3 การกำกับดูแล เรื่องของการกระทำที่ไม่เป็นธรรมการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การปั่นราคา อย่างเช่น การขายโทเคน ทางก.ล.ต. ก็จะเข้าไปดูการใช้ข้อมูลภายในไม่ให้ไปหาประโยชน์ในการสร้างราคา เป็นต้น

นางสาวจอมขวัญ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการออกพ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล มีความท้าทายในการกำกับดูแลอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ทำให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นทุกวันอย่างรวดเร็ว ซึ่งทาง ก.ล.ต. ต้องสร้างสมดุลการพัฒนาเรื่องธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กับการดูแลผู้ลงทุน ตั้งแต่ปี 2561 เป็นช่วงสร้างระบบต่างๆ ให้ครบ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และผู้ลงทุน

ทั้งนี้ปัจจุบันมีนักลงทุนเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่ จำนวนมากเมื่อเทียบกับปี 2562 มีจำนวน 1.4 แสนบัญปี ต้นปี 2563 เพิ่มขึ้นมา 2.6 แสนบัญชี และ 2564 เพิ่มเป็น 1.1 ล้านบัญชี เทียบกับบัญชีหุ้นที่เกิดมา 40 ปีแล้ว มีอยู่ 1.8 ล้านบัญชี กองทุนรวมมี 1.6 ล้านบัญชี แสดงให้เห็นว่ามีคนสนใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมาก แต่ก็มีความน่าเป็นห่วงว่าผู้ลงทุนที่เข้ามาเพิ่มเป็นหน้าใหม่ บางคนไม่เคยลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมาเลย

ดังนั้นการทำประชาพิจารณ์เรื่องแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ก.ล.ต. ดำเนินการอยู่ จะให้ความสำคัญใน 2 เรื่อง ในเรื่องแรกเป็นเรื่องความรู้ความเข้าใจผู้ลงทุน เนื่องจากเป็นการลงทุนมีความผันผวนสูง เรื่องที่สองเรื่องความสามารถในการรับความเสี่ยงของการลงทุนจากความผันผวนสูงของสินค้าที่เข้าไปลงทุน

"ก.ล.ต.ไม่ต้องการให้ผู้ลงทุนเอาเงินร้อน หรือ เอาเงินเก็บมาทั้งชีวิตมาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาลงทุนทั้งหมด จึงมีการเปิดทำประชาพิจารณาแก้กฎหมาย ว่า คนที่จะเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลควรมีคุณสมบัติอย่างไร จากการรับฟังจากผู้ประกอบการ และผู้ลงทุน ทาง ก.ล.ต.จะขอให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ให้ความรู้กับผู้ลงทุนไปสำคัญ และอธิบายถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต" นางสาวจอมขวัญ กล่าว