posttoday

รมว.คลังและแบงก์ชาติอาเซียน ถกรับมือเศรษฐกิจผันผวน

12 พฤษภาคม 2565

รมว.คลังและแบงก์ชาติอาเซียน ประชุมรับมือเศรษฐกิจผันผวน จากผลกระทบสงครามและเงินเฟ้อสูง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังได้เข้าร่วมการประชุมรมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีรมว.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วม และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ของประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่นสาธารณรัฐเกาหลี และผู้บริหารระดับสูงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF )ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เข้าร่วมการประชุมซึ่งที่ประชุมได้หารือประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 สรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ที่ประชุมได้รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคจากผู้แทนIMF ADB และAMRO ซึ่งต่างเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการที่ตรงเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และนโยบายการสนับสนุนการฟื้นตัว รวมทั้งการเพิ่มของอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในภูมิภาคโดย IMF คาดการณ์ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ในขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 และคาดว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 5.1ตามลำดับอย่างไรก็ตาม

ทั้ง3 องค์กร ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะจากความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและยูเครน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ด้วยเหตุนี้ อาเซียน+3 ต้องมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมการดำเนินโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะปราง รวมทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจหลักของ AMRO ได้แก่ การเฝ้าระวังเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 การสนับสนุนการดำเนินการภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศสมาชิกอาเซียน+3 โดยเร่งรัดให้ AMRO จัดทำทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Direction) ฉบับใหม่ เพื่อมุ่งยกระดับการดำเนินงานของ AMRO ในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานโยบายที่เชื่อถือได้และการสนับสนุนกลไก CMIM ในอนาคต รวมทั้งได้รับทราบการแต่งตั้งผู้อำนวยการAMRO คนใหม่คือ ดร. Li Kou Qing จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะเข้ารับตำแหน่งแทนผู้อำนวยการAMRO คนปัจจุบัน (นาย Toshinori Doi) ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565

3. มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMIM) สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งรวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของCMIM ให้เป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบว่าประเทศสมาชิกสามารถหาข้อสรุปร่วมกันถึงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่สำหรับCMIM และกระบวนการการนำเงินสกุลท้องถิ่นมาสมทบในCMIM และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 พิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของCMIM ในอนาคตต่อไป

4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของABMI ตามแผนการดำเนินงานระยะกลางปี2562-2565 ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินการสร้างระบบนิเวศสำหรับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานและการประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ เพื่อสนับสนุนการออกตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่นของอาเซียน+3 ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน

5. ทิศทางความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ในอนาคต ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการที่สำคัญความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ในอนาคตได้แก่การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนากลไกเพื่อรองรับปัญหาด้านมหภาคและปัญหาเชิงโครงสร้างการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติและการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เรื่อง“เทคโนโลยีทางด้านการเงิน(Financial Digitalization)” และ “การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Finance)” เป็นหัวข้อความร่วมมือทางการเงินใหม่ของอาเซียน+3

ในการนี้ รมว.คลังได้ใช้โอกาสนี้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืนและกล่าวสนับสนุนการพัฒนาพันธบัตรของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยการส่งเสริมการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งสนับสนุนความคิดริเริ่มในการหารือเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการเงินและการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเนื่องจากเห็นว่าอาเซียน+3 สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินในการพัฒนาประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคได้ ในขณะที่การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนจะสนับสนุนให้สมาชิกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้ นอกจากนี้ ทั้ง2 ประเด็นดังกล่าวยังสอดคล้องกับประเด็นสำคัญ (Priorities) ของกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Process) ประจำปี2565ในวาระที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคด้วย

ทั้งนี้ การประชุม AFMGM+3 ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียน+3ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างกันเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคและสนับสนุนการฟื้นตัวของภูมิภาคจากโควิด-19อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3อาทิการเพิ่มประสิทธิภาพของCMIM ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคการส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่นตลอดจนการส่งเสริมมาตรการริเริ่มใหม่ๆเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ในการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สมดุลและยั่งยืน