posttoday

สงครามรัสเซียยูเครน เสี่ยงทำราคาน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์

25 กุมภาพันธ์ 2565

นักวิชาการประเมิน สงครามรัสเซียยูเครน เสี่ยงทำราคาน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์ กระทบเศรษฐกิจไทยเข้าภาวะ Stagflation

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต แสดงความเห็นว่า ผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน รัฐบาลรัสเซียจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากชาติตะวันตก มาตรการคว่ำบาตรบางส่วนจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์ทันทีหลังรัสเซียประกาศรุกรานยูเครน ราคาทองคำจะทดสอบ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในไม่ช้าและน่าจะส่งผลให้ราคาทองคำรูปพรรณในประเทศทะลุระดับ 32,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำได้

"ราคาน้ำมันมีโอกาสทดสอบระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในเดือนมีนาคม หากสงครามรัสเซียยูเครนขยายวงและโอเปคไม่เพิ่มกำลังการผลิตราคาน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิด Stagflation เนื่องจากประเทศพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและน้ำมันในระดับสูง" ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นยังอยู่ในวงจำกัด แต่ตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทยังทรุดตัวได้อีก ตลาดสินค้าส่งออกของไทยโดยภาพรวมอาจชะลอตัว มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญภาวะ Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่เวลานี้คือ รายได้ชะลอตัว หนี้สินท่วม ค่าครองชีพสูงขึ้น และทำงานต่ำระดับ มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก การใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวของการจ้างงานและการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การชะงักงันระบบจัดส่งและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นยังดำรงอยู่ ปัญหาบางส่วนเกิดจากการหยุดดำเนินการผลิตของโรงงาน เกิดการการชะงักงันของระบบจัดส่งโลจีสติกส์ ปัญหาการแพร่ระบาดและการติดเชื้อสูงระลอกใหม่น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโรงงานภาคการผลิตได้ การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อเตรียมใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระยะยาว มาตรการควบคุมเงินเฟ้อและค่าครองชีพ มาตรการสาธารณสุขรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ควรมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สินมากกว่าการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม