posttoday

"ยิ่งใช้ยิ่งได้" มาตรการกระตุ้นศก.ที่ล้มเหลวที่สุดของรัฐบาลบิ๊กตู่

01 มกราคม 2565

"ยิ่งใช้ยิ่งได้" ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ ที่ล้มเหลวมากที่สุดในปีที่ผ่านมา

ในปีที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ "รัฐบาลบิ๊กตู่" ได้วาดความหวังไว้สูงเสียดฟ้า ในการดึงเงินคนรวยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รัผลผกระทบจากโควิด-19

ซึ่งตอนออกมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ รัฐบาลวาดฝันไว้สวยหรูจะดึงเงินคนรวยได้มากถึง 4 ล้านคน จะใช้จ่ายทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 3 แสนล้านบาท

แต่ทว่าผลที่ออกมาจริงช่างห่างไกลจากที่วาดฝันเสียเหลือเกิน โดยกระทรวงการคลังสรุปผลโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ปิดโครงการเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีประชาชนผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวนกว่า 4.9 แสนราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสม 3,827 ล้านบาท มีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมส่วน e-Voucher 339 ล้านบาท

ผลที่ออกมาต้องยอมรับว่า บิ๊กตู่ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจต้องหน้าแตกยับเยิน จากตั้งเป้าว่าจะมีคนใช้ 4 ล้านคน มีคนใช้ไม่ถึง 1 แสนคน

ที่น่าเจ็บกระดองใจมากกว่านั้น คือ มีผู้ได้สิทธิเกือบ 5 แสนคน แต่ใช้จริงแล้วไม่ถึงแสนคน เรียกว่าจองไปก่อนแล้วก็ไม่ได้ใช้ ไม่ต้องพูดถึงจำนวนเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่คาดว่ามีเป็นแสนล้านบาท แต่จริงๆ แล้วไม่กี่พันล้านบาท

ว่ากันจริงๆ ก็น่าเห็นใจบิ๊กตู่ ที่เดินหน้ามาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ ตามที่ทีมเศรษฐกิจคู่กายอย่าง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ที่อ้างข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีคนไทยมีเงินฝากอยู่ในระบบธนาคารสูงถึง 8 แสนล้านบาท จึงต้องการดึงเงินส่วนนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เสนอให้ ครม.บิ๊กตู่เห็นชอบ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

"โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นโครงการใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ได้รับสิทธิไม่เกิน 4 ล้านคน ที่ชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher)

โดยวงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ โดยยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 10 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสิทธิ e-Voucher จะคืนเป็นวงเงินใน g-Wallet ทุกต้นเดือนถัดไป โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ โดยวงเงินสำหรับการดำเนินโครงการรวม 28,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 268,000 ล้านบาท"

จากรายละเอียดของมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะเห็นมีการลอดดีเอ็นเอของมาตรการคนละครึ่งที่ได้รับความนิยมล้มหลาม แต่เมื่อนำมาใช้กับมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าอย่างที่เห็น

"ยิ่งใช้ยิ่งได้" มาตรการกระตุ้นศก.ที่ล้มเหลวที่สุดของรัฐบาลบิ๊กตู่

นายสุพัฒนพงษ์ โพสต์เฟสบุ๊กชี้แจง มาตรการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ว่าไม่ใช่โครงการที่คิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่มีที่มาที่ไป โดยรายละเอียดข้อความระบุว่า

"โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ไม่ใช่โครงการที่คิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่มีที่มาที่ไป แต่มีวิถีคิดบนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้ ผมได้ชี้แจงประเด็นนี้ไว้ในการประชุมสภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2565 เมื่อวาน (2 มิ.ย. 64) ดังนี้ครับ

ดังที่มีท่านสมาชิกฯ สงสัยว่าแนวคิดของ ครม. ในการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยมุ่งพิจารณาผู้ที่มีรายได้สูง ผ่านการคิดโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ดูไม่มีที่มาที่ไปนั้น ที่จริง ครม. คิดโครงการนี้บนพื้นฐานของข้อมูลที่เรามีและเชื่อถือได้ครับ โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วงปลายปี 63 เมื่อเทียบกับปี 62 ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เรากลับพบว่ามีสภาพคล่องหรือเงินฝากที่อยู่ในบัญชีเงินฝากสูงขึ้นถึง 820,000 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของแนวคิดโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่จะดึงดูดและเชิญชวนกลุ่มคนที่มีรายได้สูงหรือมีเงินฝากเป็นจำนวนมากให้มาจับจ่ายใช้สอย เพราะแม้อาจมีจำนวนไม่มาก แต่หากกลุ่มคนจำนวนไม่กี่ล้านคนนี้ใช้จ่ายเป็นหลักหมื่นหลักแสน นั่นจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

รัฐบาลคาดหวังที่จะกระตุ้นกลุ่มคนจำนวนไม่กี่ล้านคนที่มีสภาพคล่องสูงขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมานี้ ให้จับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เพราะถ้าดึงดูดให้เขามาเข้าร่วมในโครงการได้ ก็น่าจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 240,000-300,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้คือวิถีคิดและที่มา ยืนยันว่าเราคิดโครงการแบบมีที่มาที่ไปและตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลจากความเป็นจริงครับ"

เมื่อประมวลไทม์ไลน์ของมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ สิ่งที่วาดฝันไว้กับผลที่ออกมาจริง เป็นการสะท้อนฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีบิ๊กตู่เป็นหัวหน้าทีม เสียความน่าเชื่อถือไปไม่น้อย

การอ้างว่ามีข้อมูลดีไม่มีใครคัดค้าน แต่การออกแบบมาตรการไม่มีเสน่ห์ไร้มนต์ขลัง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลบิ๊กตู่อยู่แต่ในทุ่งดอกไม้มองโลกสวยไปหมด แต่ใช้ไม่ได้กับมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพราะการดึงเงินคนรวยออกมาช่วยกู้เศรษฐกิจ ยากกว่าล้วงเงินคนจนกู้เศรษฐกิจเป็นล้านเท่า