posttoday

คลัง เล็งเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็ม

28 พฤศจิกายน 2564

คลัง เล็งเก็บภาษีโซเดียม สั่งสรรพสามิตศึกษาแนวทางจัดเก็บ หวัลดความเค็มดูแลสุขภาพประชาชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระห่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็มตามปริมาณโซเดียม และจะดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป โดยมาตรการภาษีสรรพสามิตเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชน และผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดการบริโภคและลดการผลิตสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง ร่วมกับการใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษี

โดยมีเป้าหมายให้การบริโภคโซเดียมของคนไทยในแต่ละวันให้น้อยกว่า 20% ต่อคนต่อวัน หรือเหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน จากอัตราการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันที่ 3,600 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน และมีเป้าหมายให้ลดต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่หากมีการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ก็จะมีผลต่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องการจัดเก็บภาษีจากความเค็มนั้น ก็ต้องไปดูว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร โดยอาจจะต้องใช้เวลา เพราะต้องมีการหารืออย่างรอบคอบกับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหาร

ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และไตวายเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โดยมาจากการบริโภคหวาน มัน เค็ม ที่ผ่านมาคลังได้มีการจัดเก็บภาษีจากความหวานไปแล้ว ก็ได้ผลดี ต่อไปก็เป็นภาษีจากความเค็ม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากโรคเรื้อรังส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียค่าใช้จ่าย และโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนจะเริ่มจัดเก็บภาษีจากความเค็มได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การจะกระตุ้นให้คนไทยบริโภคความเค็มลดลงนั้น มีเครื่องมือหลายอย่าง โดยเครื่องมือที่ดีที่สุดคือ เครื่องมือทางภาษี ก็จะได้ผลให้มีการลดการบริโภคได้ทันที และการเข้าไปดูในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสินค้าทุกประเภทมีเกลือเป็นส่วนประกอบทั้งหมด การใช้เครื่องมือทางภาษีจึงต้องดูการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมด้วย รวมถึงมาตรการรณรงค์ในกลุ่มร้านอาหาร และพฤติกรรมของคนในครอบครัวให้ลดการบริโภคเค็มลง ยอมรับว่าคงต้องใช้เวลา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ทุกส่วนจะต้องปรับตัวทั้งหมด

นายอาคม กล่าวว่า ภาษีจากความเค็มจะจัดเก็บทั้งจากอาหารสำเร็จรูป และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องปรุงอาหารทั้งหมด เช่น ผงชูรส น้ำปลา เกลือ ผงปรุงรส เป็นต้น โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูแล ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ขณะที่ร้านอาหาร ภัตราคาร ก็ต้องมีองค์การอาหารและยา (อย.) เข้ามาช่วยดูคุณภาพ โดยจะใช้ระบบเดียวกับภาษีความหวานที่ต้องมีการวัดปริมาณที่ชัดเจน

นอกจากนี้ เมื่อมีการใช้เครื่องมือทางภาษีแล้ว จะต้องมีระบบการติดตามและประเมินผลของมาตรการลดการบริโภคโซเดียมด้วยว่า เครื่องมือทางภาษีแล้วจะมีผลต่อการลดการบริโภคอย่างไร อัตราการป่วยจากโรคไตเรื้อรังจะลดลงหรือไม่ อย่างไร หากไม่มีการติดตามประเมินผล ก็อาจจะสะท้อนว่าเครื่องมือทางภาษีไม่ได้ผล ไม่มีประโยชน์

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของภาษีโซเดียม ไม่ได้มุ่งเป้าหมายที่การเพิ่มรายได้ของรัฐบาล แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและการสูญเสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมเกินพอดี เพิ่มทางเลือกของสินค้าที่มีโซเดียมต่ำในท้องตลาดมากขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนการจัดเก็บยังต้องดูความพร้อมของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเวลานี้ยังไม่เหมาะจะดำเนินการ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว โดยมองว่าหากมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท อาจจะสามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีจากความเค็มได้

“สินค้าที่จะจัดเก็บภาษีโซเดียมเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาสูง อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงต้องให้เวลาผู้บริโภคในการปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสม และให้เวลากับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์ โดยเบื้องต้นจะให้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีสำหรับการปรับตัวก่อนจะมีการจัดเก็บภาษีจริง” นายณัฐกร กล่าว