posttoday

มองต่างมุมตลาดหุ้นจีน 'วิกฤตหรือโอกาส'

14 กันยายน 2564

โดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™

Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

ความกังวลด้าน Regulation ถือเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ตลาดหุ้นจีนปรับฐานลงมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องมาจากการปรับกลยุทธ์บริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ได้เข้ามาคุมเข้มและจัดระเบียบบริษัทเอกชนในประเทศผ่านการออกมาตรการและกฎหมายต่างๆ ทั้งการต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมของภาคธุรกิจ การรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินและตลาดทุน (Fintech / Capital Market) การควบคุมความปลอดภัยทางด้านข้อมูล (Data Security) ตลอดจนการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม (Social Equality) ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของจีนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกลุ่ม E-commerce, After-School Tutoring, Food Delivery, Gaming Services, Social Network และยังทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นจีนปีนี้ต่ำกว่าตลาดเอเชียหลายตลาดอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการปรับฐานของตลาดหุ้นจีนและความสิ้นหวังของนักลงทุน เราพบข้อมูลที่น่าสนใจ 3 ปัจจัยที่อาจเปลี่ยนมุมมองของนักลงทุนต่อการปรับฐานครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญ     

ปัจจัยแรกคือในแง่มุมเชิงสถิติ (แผนภาพที่ 1) หากเราพิจารณาดัชนี MSCI China Index ย้อนหลังไปในอดีตจนถึงปี 1997 จะพบว่าการปรับฐาน (Market Correction) ในครั้งนี้ของตลาดหุ้นจีนนั้น ถือเป็นการปรับฐานลงครั้งที่ 20 แล้ว ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ตลาดหุ้นจีนมี “Correction ขนาดใหญ่” หรือการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของตลาดที่มากกว่า 40% ทั้งสิ้นอยู่ 3 ครั้ง ซึ่งมักจะเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานลงอย่างรุนแรง และส่งผลตอเนื่องให้ตลาดหุ้นจีนได้รับผลกระทบตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤต Subprime ปี 2008 ที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง 74% จากจุดสูงสุด ในขณะที่ “Correction ขนาดกลาง” หรือการปรับฐานของตลาดในระดับที่อยู่ระหว่าง 20 - 40% มีอีกทั้งหมดด้วยกัน 8 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น สงครามการค้าในปี 2018 ที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงประมาณ 33% จากจุดสูงสุด และถัดมาคือ “Correction ขนาดเล็ก” ซึ่งหมายถึงการปรับตัวลงของตลาดในระดับไม่เกิน 20% อีกทั้งหมด 8 ครั้ง อย่างเช่น ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ปี 2020 ที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงราว 19% จากจุดสูงสุด 

สำหรับการปรับฐานในครั้งนี้ ดัชนี MSCI China Index ได้ปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 30% นับจากจุดสูงสุดในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา จึงถือได้ว่าเป็น “Correction ขนาดกลาง” ครั้งที่ 9 ในรอบ 25 ปีย้อนหลังของตลาดหุ้นจีน ดังนั้น หากนักลงทุนมองว่าการปรับฐานจากประเด็นเรื่อง Regulation ในครั้งนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะรุนแรงในระดับวิกฤตเศรษฐกิจที่มักจะนำไปสู่การปรับฐานรุนแรงแบบ Correction ขนาดใหญ่ จากข้อมูลสถิติย้อนหลังจึงบ่งชี้ได้ว่า ตลาดหุ้นจีนน่าจะมี Downside ที่เริ่มน้อยเมื่อเทียบกับการปรับฐานครั้งที่ผ่านมาในอดีต 

แผนภาพที่ 1 : ตารางเปรียบเทียบการปรับฐานของตลาดหุ้นจีนตั้งแต่ปี 1997-2021ที่มา: Goldman Sachs

ปัจจัยที่สองคือความถูก-แพงของหุ้น (Valuation) พบว่า ปัจจุบันดัชนี MSCI China Index ได้ปรับตัวลดลงมาซื้อ-ขายอยู่ที่ระดับ 12mFwd PE ราว 13.46 เท่า ในขณะที่การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS Growth) โดยรวมยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 24% ในปี 2021 และ 13% ในปี 2022 

เช่นเดียวกันกับ Valuation ของหุ้นกลุ่ม China Internet ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน อย่างเช่น Alibaba, Tencent, Meituan, JD และ Baidu ก็ได้ปรับตัวลดลงมาซื้อขายในระดับที่ต่ำกว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ กว่า 60% ถือเป็นระดับราคาที่ถูกที่สุดในรอบ 10 ปี ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่หุ้นจีนกลับลงมามี Valuation ที่ถูกที่สุดอีกครั้งหนึ่งในรอบทศวรรษ เราเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลจีนจะปรับวิธีการสื่อสารกับนักลงทุนให้มีประสิทธิภาพและคาดการณ์ได้มากยิ่งขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มเข้าใจถึงจุดประสงค์เชิงนโยบายของรัฐบาลจีนและทยอยคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่อง Regulation ลง เมื่อถึงเวลานั้นตลาดหุ้นจีนก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาทุกครั้งในอดีต

ปัจจัยที่สามคือการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปัจจุบันถือว่าเศรษฐกิจจีนยังมีทิศทางการขยายตัวที่แข็งแกร่งโดย Bloomberg Consensus ยังคงประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ไว้ที่ระดับ 8.5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกและยังมากกว่าเป้าหมายของรัฐบาลจีนในปีนี้ที่ตั้งเป้า GDP Growth ไว้ในระดับที่ “มากกว่า 6.5%” 

แม้ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนจะประสบปัญหาด้านอุทกภัยที่เกิดขึ้นในบางมณฑล รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ทาง TISCO ESU จึงคาดว่าธนาคารกลางจีนจะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจและผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกครั้ง ผ่านการปรับลดอัตราส่วนเงินกันสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) ลงอีกหนึ่งครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงมีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการลงทุนในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวม ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง จะพบว่าการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน มักจะมีความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้น  ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตา เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวอาจนำไปสู่การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนได้ในระยะถัดไป

แน่นอนว่าความเสี่ยงประเภท Regulatory Risk เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับการจับจุดต่ำสุดของการปรับฐานของตลาดหุ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมุมของการเติบโตทางเศรษฐกิจ มูลค่าความถูก-แพงของตลาดหุ้น แนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนจีนในระยะยาว ตลอดจนเปรียบเทียบการปรับฐานของตลาดหุ้นจีนในอดีตแล้ว ข้อมูลทุกด้านต่างก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่เป็น “โอกาส” ในการลงทุน มากกว่าที่จะเป็นวิกฤตที่นักลงทุนจะต้องถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นจีน โดยทาง TISCO Wealth ยังคงมุมมองเชิงบวกในระยะยาวกับหุ้นจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน Megatrends ทั้งกลุ่ม Consumer Discretionary, Technology, Healthcare และ Clean Energy ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่สูงและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของประเทศจีน