posttoday

แบงก์ไทยฝ่ามรสุมหนี้เสีย จากพิษโควิดทำเศรษฐกิจทรุด

06 กันยายน 2564

แบงก์ไทย กังวลหนัก ธุรกิจและครัวเรือนเจอวิกฤตรายได้ทรุด หนี้สินพุ่ง สะเทือนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลาเกือบสองปี สะท้อนภาพหลายอย่างที่ทำให้ฝ่ายต่างๆ ต้องกลับมาขบคิด ทั้งภาพผลกระทบจากเฉพาะเหตุการณ์โควิดเอง รวมถึงภาพปัญหาที่สะสมไว้เดิมในแต่ละหน่วยเศรษฐกิจที่โควิดขยายปัญหาให้ใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมามองธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นแว่นขยายที่มองย้อนกลับไปยังมิติของปัญหาลูกค้านั้น จะพบหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ สถานการณ์กำไรสุทธิของภาพรวมระบบธนาคารของไทยปัจจุบันบางส่วนมาจากรายได้ดอกเบี้ยค้างรับตามสิทธิ์

ขณะที่แบงก์ไทยมีสถานะทางการเงินด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านและมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ช้ากว่า นอกจากนี้ผลประกอบการระบบธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนปัญหาคุณภาพหนี้และพอร์ตหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ลดลงช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นกระจกสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจไทยหลายด้าน

เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีธุรกิจที่เผชิญผลกระทบหนักจากโควิดในสัดส่วนสูง ปัญหาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ด้อยลงอีกหลังโควิด

มองไปข้างหน้า แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะมีการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานหรือปัญหาคุณภาพหนี้ที่คงจะล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดในรอบนี้ที่ยังมีอยู่ แต่โจทย์ที่สำคัญและน่ากังวลมากกว่า จะเป็นความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องฝ่าฟันปัญหาด้านรายได้ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมไปถึงหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใต้บริบทเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับยังต้องเร่งหาคำตอบว่า ไทยจะอาศัยจุดแข็งของธุรกิจใดในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศท่ามกลางข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ไทยเก่งแต่เป็นเทคโนโลยีในโลกเก่า เพราะจะหมายความถึงความยั่งยืนของทิศทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ ครัวเรือน ตลอดจนธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะยาว

ขณะที่ ในระหว่างนี้ ฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็คงแก้ปัญหาและเร่งปรับตัวเฉพาะหน้าเพื่อหาวิธียืนยันรายได้ทางเลือกของลูกค้า การหาลูกค้าศักยภาพ (ที่มีจำนวนน้อยลง) การลดต้นทุนในมิติต่างๆ รวมถึงการหาโอกาสจากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มากไปกว่าโลกการเงินแบบเดิม ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ลูกค้าได้กว้างและหลากหลายขึ้นกว่าเดิม และพอจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประคองการเติบโตไว้ได้ แต่คงไม่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนได้ หากไม่ได้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังจากโควิดจบอย่างจริงจัง