posttoday

เตือนการศึกษาไทยวิกฤติ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

05 กันยายน 2564

เตือนการศึกษาไทยวิกฤติ ปิดกิจการและเลิกจ้างรุนแรงคุณภาพนักเรียนทรุดจากการเรียนออนไลน์ หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจเพิ่ม

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประเทศจะเผชิญปัญหาวิกฤติทางการศึกษาพร้อมกับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ผลิตภาพแรงงานลดลง และคุณภาพชีวิตลดลงในระยะกลางและระยะยาว

ในส่วนของวิกฤติเศรษฐกิจนั้นหากสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่าวันละ 600,000 รายและจำนวนติดเชื้อลดลงต่อเนื่องอย่างในปัจจุบัน และ สามารถเดินหน้าทยอยเปิดประเทศได้ในเดือนตุลาคม ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง

ส่วนปัญหาวิกฤติการศึกษานั้นจะแก้ไขยากกว่าและจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมยาวนาน ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานอย่างมากและจะทำให้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงขึ้นจากโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาแตกต่างกันอย่างมากในช่วงการ “ล็อกดาวน์” และ “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19” เบื้องต้นเห็นได้ชัดเจนว่า ในระยะ 4-5 ปีแรกของแผนการศึกษาแห่งชาตินั้น ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แผนการดำเนินการล้วนสะดุดมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากความไม่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีแต่ละท่านที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง และ สดุดลงอย่างหนักสุดจากวิกฤตการณ์โควิด

นอกจากปัญหาวิกฤติคุณภาพการศึกษาแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้ คือ การปิดตัวลงของสถานศึกษาเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลางจากปัญหาสภาพคล่องจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้และบางส่วนไม่ยอมจ่ายเนื่องจากไม่ได้มีการจัดการศึกษาตามที่คาดหวัง เด็กๆ เกือบทั้งหมดเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านเนื่องจากมีการ “ล็อกดาวน์” ยาวนาน มีโรงเรียนและครอบครัวจำนวนมากไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาทางออนไลน์ การศึกษาทางไกล และ การศึกษาที่เด็กๆต้องถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน

นอกจากสถาน์ศึกษา มีการเลิกจ้างบุคลากรการศึกษาจำนวนมากในโรงเรียนระดับปฐมวัย ประถมและมัธยม ขณะนี้มีการเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 20,000 คนคาดว่าถ้าไม่มีเข้ามาแก้ปัญหาจำนวนเลิกจ้างอาจแตะ 35,000 คนได้ในภาคการศึกษาหน้า ขณะที่ สถานศึกษาเอกชนที่ยังประคับประคองตัวเองไปได้ก็ใช้วิธีลดเงินเดือนบุคลากรลงมาประมาณ 10-70% ทำให้ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประสบปัญหาทางการเงินและมีหนี้ส่วนบุคคลจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ จึงทำให้มีบุคลากรทางการศึกษาจำนวนไม่น้อยขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาอ่อนแอลงอย่างมาก ประเทศย่อมอ่อนแอลงและผลกระทบจะยาวนานกว่า วิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติการเมืองใดๆ

ทั้งนนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเร่งด่วน จะมีสถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐาน (ปฐมวัย จนถึงมัธยม) เอกชนปิดกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก “การล็อกดาวน์” “การปิดสถานศึกษา” “การแพร่ระบาดของโควิดในหมู่บุคลากรทางการศึกษา” รัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหาและรัฐบาลต้องจัดการแก้ปัญหาเป็นการด่วน