posttoday

คลัง ห่วงศก.ซมพิษโควิด ผวาคลัสเตอร์โรงงานฉุดภาคผลิต

02 กันยายน 2564

คลัง รับเศรษฐกิจไทยยังซมพิษโควิด-19 ห่วงคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมฉุดภาคการผลิต

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2564พบว่า เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. ติดลบ 9.8% และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ติดลบ17.7 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 40.9 จากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัว 22.9% ต่อปี และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัว6.2% ต่อปี

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ติดลบ12.4% ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันปี โดยติดลบ 12.0% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว สอดคล้องกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ติดลบ11.6% ต่อปี ด้านปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 32.6% ต่อปี

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ 20.3% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะยางพารา ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า โดยการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะ อินเดีย ขยายตัว 75.3% ต่อปี จีนขยายตัว 41.0% ต่อปี และสหรัฐฯ ขยายตัว22.3% ต่อปี

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณขยายตัวจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัว 6.5% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลัง และหมวดไม้ผล ขณะที่บริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 18,056 คน สูงสุดในรอบ 16 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิสราเอล ฝรั่งเศส และเยอรมนี

“นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา เดินทางเข้ามาตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จำนวน 14,055 คน ส่วนการท่องเที่ยวของชาวไทย จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือน ก.ค. 2564 อยู่ที่ 869,248 คน ลดลง91.3% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย” นายวุฒิพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือน ก.ค. 2564 ยังคงขยายตัวได้ที่ 5.1% ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 78.9 จากระดับ 80.7 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่มีการระบาดในคลัสเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

อย่างไรก็ดี ในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.45% ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.14% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 55.2% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.2564 อยู่ในระดับสูงที่ 248 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ