posttoday

เศรษฐกิจเดือนก.ค.สาหัส บริโภค ลงทุน ส่งออก แผ่ว

31 สิงหาคม 2564

แบงก์ชาติแจง เศรษฐกิจเดือนก.ค.สาหัส บริโภค ลงทุน ส่งออก แผ่ว

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2564 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ด้านการส่งออกสินค้าแผ่วลงจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศ ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ โดยการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจาก supply disruption ชัดเจนขึ้น

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากโครงการ Phuket sandbox ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่รวมเงินโอนยังมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในเดือนนี้ของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง โดยมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเป็นผลจาก

1) อุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศที่รุนแรงขึ้น

และ 2) การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในโรงงาน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้างที่แผ่วลงตามภาวะอุปสงค์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานยังกดดันการผลิตในหลายหมวด

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนโดยการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นในบางหมวดสินค้า อาทิ เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ขณะที่บางหมวดมีการนำเข้าลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากโครงการ Phuket sandbox ที่เริ่มขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาวะปกติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในเดือนนี้ของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่ยืดเยื้อ