posttoday

คลังระบุเศรษฐกิจอ่อนแอ ต้องเร่งใช้เงินกู้สู้วิกฤต

25 สิงหาคม 2564

คลังระบุเศรษฐกิจอ่อนแอ ต้องเร่งใช้เงินกู้สู้วิกฤต ลุยรื้อเพดานก่อหนี้ทะลุ 60%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “สร้างความพร้อมประเทศไทย สู่โอกาสทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19” ในงาน Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 จะเติบโตถึง 7.5% แต่สภาพการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แข็งแกร่งนัก โดยที่อัตราการเติบโตเทียบระหว่างสองไตรมาสนับตั้งแต่ต้นปีนี้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% และการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ส่งผลให้การฟื้นตัวอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้  

สำหรับปี 2565 รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้โมเดลภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์และสมุยพลัส ที่ตอนนี้ขยายไปครอบคลุมนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของไทย  การระบาดที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลสามารถหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4-5%

นายอาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมา พระราชกฤษฎีกาเงินกู้สองฉบับที่มีมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านบาทได้รับการอนุมัติ โครงการต่าง ๆ ภายใต้เงินกู้ฉุกเฉินก้อนแรก 1 ล้านล้านบาทถูกใช้ไปเกือบหมดแล้ว ขณะที่โครงการภายใต้เงินกู้ก้อนที่ 2 จำนวน 500,000 ล้านบาทก็เริ่มต้นขึ้นแล้วและจะไปสิ้นสุดในปลายปีงบประมาณ 2565

อย่างไรก็ดี สถานภาพทางด้านการเงินของไทยนั้นยังคงแข็งแกร่ง  แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการกู้ยืมเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่สัดส่วนของหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) นั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยอยู่ที่ 56.1% และกระทรวงการคลังก็คาดหมายว่าสัดส่วนหนี้ต่อ GDP นี้จะอยู่ต่ำกว่า 60% ในปลายปีงบประมาณ 2564 อันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ และการมีวินัยการคลังอันเข้มงวด

"หากต่อไปมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งตั้งขึ้นมาภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐก็สามารถที่จะทบทวนเพื่อที่จะยกระดับเพดานดังกล่าวได้ ที่ผ่านมาเราสามารถที่จะคงวินัยทางด้านการเงินเอาไว้ได้แม้ในยามที่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มระดับของหนี้สาธารณะขึ้น  เนื่องมาจากการที่เราสามารถคงการจ่ายดอกเบี้ยไว้ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากยุทธศาสตร์การกู้ยืมที่หลากหลายโดยผ่านตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นที่สภาพคล่องสูง" นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า ในระยะต่อไปคลังจะเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้เพื่อเป็นรากฐานแห่งการเติบโตในระยะยาวของประเทศ ได้แก่

1. แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม

2. สร้างความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  3. ลดภาวะเรือนกระจกและหาวิธีแก้ไขปัญหาภาวะภูมิอากาศแปรปรวน

4. สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน 5.ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 6.สร้างความเข้มแข็งและความสามารถการแข็งขันสำหรับธุรกิจรายย่อย (MSMEs)  

ในส่วนของตลาดทุน จะเร่งดำเนินการ 7 เรื่อง คือ

1. เป็นแหล่งทุนสำหรับ SMEs และสตาร์ทอัพ ที่นำเสนอนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ ๆ

2. แหล่งระดมทุนสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและดิจิทัล

3. เป็นที่ส่งเสริมบริษัทชั้นนำระดับประเทศต่าง ๆ ให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก

4. แหล่งรวมบริษัทซึ่งให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและจริยธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

5. ตลาดซื้อขายทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

6. เป็นแหล่งลงทุนของเหล่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศหลากหลายประเภทและความต้องการ

และ 7. เป็นสถานที่ที่มีกฎเกณฑ์ควบคุม และมีความโปร่งใส รวมทั้งมีความคุ้มครองให้กับนักลงทุนกลุ่มน้อย