posttoday

เท2หมื่นล้านให้สินเชื่อดอกต่ำอุ้มรากหญ้าเจอพิษโควิด

06 พฤษภาคม 2564

ครม. ไฟเขียวคลังเท 2 หมื่นล้าน ให้สินเชื่อดอกต่ำอุ้มรากหญ้าเจอพิษโควิด ตั้งงบชดเชยหนี้เสีย 1 หมื่นล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า คลังได้เสนอให้ ครม. เห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่ ประกอบด้วยมาตรการทางการเงิน ได้แก่ 1. มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำผู้ประกอบอาชีพอิสระผู้ประกอบการรายย่อยรวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย

โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. แห่งละ 10,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปีปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก ในโครงการนี้รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณชดเชยความเสียหายไว้ 1 หมื่นล้านบาท ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

2. มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ รวมถึงประสานงานกับผู้ประกอบการ Non-bank ช่วยดำเนินการพักหนี้้ ในลักษณะเดียวกับธนาคารของรัฐดำเนินการ

3. มาตรโครงการการเราชนะ ขยายเวลาต่อไปถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2564 และเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยจะเสนอรายละเอียดให้ ครม. เห็นชอบสัปดาห์หน้า

4. มาตรการอื่นๆ ด้านการเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่

1. พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย

4. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

5. การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

6. การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สำหรับมาตรการด้านภาษีที่ดำเนินการอยู่ประกอบด้วย

1. ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564

2. การขยายเวลาเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564

3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการทำนิติกรรมที่อยู่อาศัย การจดจำนอง และการโอน

4. การขยายเวลาการยื่นแบบและเสียภาษีบุคคลธรรมดาถึงเดือน มิ.ย. 2564

5. การขยายเวลาการยื่นแบบและเสียภาษีนิติบุคคล

6. มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน

7. ยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาโควิด