posttoday

ไม่ล็อกดาวน์ ไม่เคอร์ฟิว ไม่เยียวยา ศก.ไทยสิ้นหวัง

25 เมษายน 2564

หมดอาลัยตายยากทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เดินเกมผิดตัดสินใจพลาดทำโควิดพ่นพิษเศรษฐกิจไทยดิ่ง

การที่รัฐบาล พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันเช้าเที่ยงเย็น ไม่ล็อกดาวน์ ไม่เคอร์ฟิว แล้วยังไม่เคาะมาตรการเยียวยารอบใหม่ เพื่อแก้วิกฤตการระบาดของโควิดรอบ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อสูงทะลุเพดานถึงวันละ 2 พันกว่าคน ทำให้ประชาชนเริ่มสิ้นหวังกับการแก้ปัญหาโควิดและเศรษฐกิจของรัฐบาล

พล.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาล และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด (ศบค.) ที่มีอำนาจใหญ่สุดในการแก้ไขปัญหาโควิด ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตของการแก้ปัญหา เพราะสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่าการระบาดของโควิดคลี่คลายแล้ว แต่ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นจากวันละหลายร้อยคน เป็นวันละพันกว่าคน จนล่าสุดวันละกว่า 2 พันคน

นายกรัฐมนตรี บอกว่า โรงพยาบาลมีเพียงพอ แต่ยังพบว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงการรักษาของโรงพยาบาล ในขณะที่จังหวัดต่างๆ เร่งสร้างโรงพยาบาลสนามอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าการระบาดของโควิดภาพรวมไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่นายกพยายามพูดให้คนเชื่อ

การตัดสินใจครั้งผิดพลาดที่สุดน่า จะเป็นการไม่ยอมล็อกดาวน์ไม่ให้คนเดินทางไปเที่ยวสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยนายกบอกว่า การไม่ล็อกดาวน์ การไม่เคอร์ฟิว เพราะไม่อยากให้กระทบเศรษฐกิจฐานราก

แต่ผลที่ตามมาวันนี้เห็นได้ชัดว่า การตัดสินใจของรัฐบาลอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากหลังสงกรานต์คนติดเชื้อโควิดเพิ่มเป็นทวีคูณ ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยที่เคยเข้มแข็งอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ก็ไม่ได้อานิสงส์จากวันหยุดสงกรานต์มากมาย นอกจากเศรษฐกิจฐานรากที่ดำเนินการโดยกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ

เมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาโควิดรอบ 3 กับรอบแรกที่ผ่านมาที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ถึงจะทำให้กระทบเศรษฐกิจรุนแรง แต่ประเทศก็ยังเหลือขาด้านสาธารณสุขที่มั่นคงนำพาประเทศไทยให้เดินหน้าฟื้นกลับมาได้

แต่สำหรับการระบาดของโควิดรอบ 3 การตัดสินใจของรัฐบาล เหมือนเป็นการตัดขาตัวเองทิ้งทั้ง 2 ข้าง คือ ด้านสาธารณสุขจากที่แข็งแรงต้องมาอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่ด้านเศรษฐกิจที่วิกฤตบอบช้ำจากการระบาดรอบแรกรอบสอง มาถึงรอบสาม ต้องถือว่าอยู่ในภาวะที่แถบไม่เหลือความหวัง ทำให้ประเทศไทยไม่เหลือขาที่จะเดินหน้ากลับมาได้เหมือนเดิมในเร็ววัน

ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลพยายามออกมาให้ความเชื่อมั่นว่า มีเงินเพียงพอดูแลเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน จำนวน 3.8 แสนล้านบาท เป็นเงินกู้ 2.4 แสนล้านบาท เป็นงบกลาง 9 หมื่นกว่าล้านบาท และงบเพื่อการดูแลปัญหาโควิดอีก 4 หมื่นกว่าล้านบาท

ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วเงินดังกล่าวไม่พอดูแลผลกระทบจากการวิกฤตการระบาดของโควิดรอบ 3 เมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรกและรอบสอง รัฐบาลใช้เงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท

ดังนั้นการระบาดของโควิดรอบ 3 ที่รุนแรงส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากกว่าการระบาดรอบแรกและรอบสอง ซึ่งน่าจะต้องใช้เงินมากกว่า 8 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินจำนวน 3.8 แสนล้านบาท ไม่เพียงพอกับการเยียวยาและฟื้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่กล้าเคาะมาตรการเยียวยาออก ไม่ว่า จะเป็นมาตรการคนละครึ่ง มาตรการแจกวงเงินให้บัตรคนจน มาตรการเราชนะ มาตรการ ม33 เรารักกัน เพราะหากทำทุกมาตรการเงินก็ไม่พอ หรือ ทำแค่บางมาตรการก็จะเป็นฝนตกไม่ทั่วฟ้าเยียวยาไม่ทั่วถึง ทำให้รัฐบาลเสี่ยงถูกรุมสวดยับเยิน

Krungthai COMPASS คาดเศรษฐกิจปีนี้โต 1.5-3.0% จากผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบ 3 โดยคาดว่าเม็ดเงินเศรษฐกิจจะสูญหายไปถึง 4 แสนล้านบาท

สอดคล้องกับของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าการระบาดโควิดรอบ 3 ทำให้เม็ดเงินเศรษฐกิจหายไป 2-3 แสนล้านบาท และ ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย เศรษฐกิจปีนี้จะโตแค่ 1.2% และอาจจะไม่โตเลย หรือ 0% หากเกิดการระบาดของโควิดรอบ 4 ในปีนี้

จะเห็นว่าการระบาดของโควิดรอบ 3 กำลังพ่นพิษให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนและนักธุรกิจผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กจนรายใหญ่ เรียกร้องความช่วยเหลือจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นการด่วน

อย่างไรก็ตาม ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เหมือนอยู่ในภาวะช็อคกับการระบาดโควิดรอบ 3 จนตั้งตัวไม่ติด ทำให้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่บอกว่า รัฐบาลกำลังคิดมาตรการเยียวยา และตบท้ายทุกครั้งว่าประเทศไทยต้องชนะ ซึ่งไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นความหวังให้กับผู้ที่ได้รับผกระทบทางเศรษฐกิจจากพิษของโควิดดีขึ้น

ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงการคลัง เปรียบเสมือนรองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็ยังท่องบทเก่า ว่า จะทำใหเเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ 4% คนไทยต้องช่วยกัน และรัฐบาลกำลังคิดมาตรการหาทางดึงเงินออมของคนไทยให้ออกมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

ส่วน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ขุนพลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ก็น่าเห็นใจที่อยู่ภาวะน้ำท่วมปาก ว่าเงินที่จะใช้เยียวยารอบใหม่ไม่พอ หากจะให้พอจริงต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลกลัวโดนโจมตีอย่างมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ถึงขนาดประชาชนจำนวนไม่น้อย จำไม่ได้แล้วว่า นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และทีมเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นมือซ้ายมือขวาของนายกรัฐมนตรีมีใครกันบ้าง

ว่ากันไปแล้วทีมเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหามาตั้งแต่เป็นรัฐบาล 2 ปีก่อน เนื่องจากรัฐมนตรีเศรษฐกิจมาคนละพรรคคนละทาง การบริหารเศรษฐกิจจึงมุ่งไปเรื่องการทำคะแนนเสียงให้พรรค มากกว่าการบริหารเศรษฐกิจเพื่อส่วนรวมของประเทศ

เห็นได้ชัดขณะนั่น มีการตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบแรก แต่ก็ประชุมได้ไม่กี่ครั้ง และการประชุมรัฐมนตรีก็เข้าประชุมไม่ครบ ทำให้การออกมาตรการเศรษฐกิจไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

หลังจากวิกฤตโควิดรอบ 1 มีการปรับ ครม. และเปลี่ยนทีมเศรษฐกิครั้งใหญ่

นอกจากนี้ มีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) แทนที่ ครม.เศรษฐกิจ แต่ก็มีปัญหาเหมือนเดิมมีการประชุมกันไม่กี่ครั้ง มีมาตรการออกมาไม่กี่มาตรการ จนวันนี้ทุกคนลืมไปแล้วว่า รัฐบาลมี ศบศ. ที่เป็นเหมือน ครม. เศรษฐกิจ ที่จะทำการกู้เศรษฐกิจให้พ้นจากพิษโควิด

ถึงวันนี้ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลบิ๊กตู่ จึงอยู่ในภาวะวังเวง ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดรอบ 1 2 3 ที่ตอนนี้อยู่ในภาวะหมดความหวังกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

ซึ่งหากทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ไม่เร่งแก้จุดอ่อน ด้วยการแก้เศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเฉียบขาด มีมาตรการที่ชัดเจนทำได้จริงแล้ว จะทำให้รัฐบาลบิ๊กตู่ถึงทางตัน ทั้งการแก้ปัญหาโควิดไม่ได้ แก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว จนกลายเป็นปัญหาการเมืองพ่นพิษใส่รัฐบาลอีกวิกฤตหนึ่งในไม่ช้า