posttoday

เสนอรัฐกู้ขาดดุลปี65เพิ่มเป็น1ล้านล้านบาท

17 มกราคม 2564

นักวิชาการ เสนอรัฐกู้ขาดดุลปี 65 สู้โควิด เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท ฟันธงมาตรการเยียวยาที่ออกมาไม่พอ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยแจกเงินเพิ่มอีก 3,500 บาท 2 เดือน พร้อมเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” อีก ๅ ล้านสิทธิ และ ลดค่าน้ำค่าไฟอีก 2 เดือนนั้น ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงแต่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีล็อกดาวน์ในบางพื้นที่

โดยภาพรวมแล้วมาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิดรอบใหม่ไม่เพียงพอ เพียงบรรเทาไปได้ช่วงสั้นๆ โจทย์ของรัฐบาล คือ ทำอย่างไรให้ ภาคส่งออก ภาคลงทุน ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเลิกจ้างรอบใหม่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์การลดเงินเดือนลดชั่วโมงการทำงาน

นายอนุสรณ์ เสนอว่า รัฐบาลควรก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่ในประเทศ และมีความเห็นว่า งบประมาณปี 2565 ที่มีการกำหนดวงเงินแผนการใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากปี 2564 เป็นการกำหนดวงเงินการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจต่ำกว่าประมาณการมากพอสมควรแม้นมีแนวโน้มเป็นบวกก็ตาม งบประมาณวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและการว่างงานยืดเยื้อ กรอบวงเงินการใช้จ่ายปี 2565 นั้นลดลงถึง 5.66% หรือ ประมาณ 1.85 แสนล้านบาท ควรเพิ่มกรอบวงเงินการใช้จ่ายอีกอย่างน้อย 2-3% แทนที่จะลดลง 5-6% โดยให้เพิ่มไปที่งบลงทุนอย่างต่ำอีก 1-2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเงินเพิ่มจาก 2 ส่วน คือ กู้เงินและเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้ง ภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีออนไลน์ และ ภาษี Betterment Tax เป็นต้น การที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการอัตราการขยายตัวปี 2565 อยู่ที่ 3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% มีความเป็นได้ที่เกิดขึ้นจริงน้อยมาก หากเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย ควรต้องทบทวนให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินตามอัตราที่เคยกำหนดเอาไว้เดิมไม่ควรปรับลดลง ก่อนที่จะพิจารณากู้เงินเพิ่มจากที่วางแผนไว้จะก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ 7 แสนล้านบาท อาจต้องกู้ 1 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย

ส่วนหนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน 60% ของจีดีพีหรือไม่ อยู่ที่ว่า รัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแค่ไหน หากรัฐบาลนำเงินกู้ไปใช้จ่ายอย่างมียุทธศาสตร์ ตรงเป้าหมาย มีประสิทธิภาพสูงไม่รั่วไหลทุจริตคอร์รัปชันแล้ว มันจะกลับมาเป็น รายได้ของประชาชน รายได้ของภาคธุรกิจ มีการจ้างงานในระบบเพิ่มขึ้น แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลงโดยอัตโนมัติ การกู้เงินเพิ่มถึง 1 ล้านล้านบาท (จากที่วางแผนกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 6565 เพียงแค่ 7 แสนล้านบาท) ก็จะไม่สร้างปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในระยะปานกลางหรือระยะยาวแต่อย่างใด