posttoday

วุ่นอีก "ธนบัตรที่ระลึก" แต่งภาพในโปรแกรมโฟโต้ชอปได้

14 ธันวาคม 2563

วุ่นเพิ่มอีก "ธนบัตรที่ระลึก" แต่งภาพในโปรแกรมโฟโต้ชอปได้ เสี่ยงถูกทำธนบัตรปลอม

หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยจะนำออกใช้ในวันที่ 12 ธ.ค. 2563 ประกอบด้วยธนบัตรที่ระลึกชุดนี้มี 2 ชนิดราคา คือ 1000 บาท จัดพิมพ์จำนวน 10 ล้านฉบับ และ 100 บาท จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านฉบับ โดยธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 1000 บาท มีรูปทรงแนวตั้ง

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ธนบัตรที่ระลึกราคา 100 บาท ที่มีสีเหลืองคล้ายกับธนบัตรราคา 1,000 บาท ที่ใช้อยู่เดิม และมีขนาดที่แตกต่างกันน้อยมาก ทำให้ร้านค้าสับสนเกิดการทอนเงินผิด

ขณะเดียวกันธนบัตรที่ระลึกราคา 100 บาท ก็มีสีแตกต่างจากธนบัตรราคา 100 บาทเดิม ที่เป็นสีแดงคุ้นตา ทำให้ประชาชนและร้านค้าเกิดความไม่มั่นใจคิดว่าเป็นธนบัตรปลอม

ล่าสุดยังพบปัญหาว่า ธนบัตรที่ระลึกราคา 100 บาทใหม่ สามารถนำไปสแกนภาพเข้าโปรแกรมโฟโต้ชอป เพื่อตกแต่งภาพได้ เป็นช่องโหว่ทำให้เสี่ยงมีการปลอมแปลงธนบัตรปลอมได้ง่ายขึ้น ต่างจากธนบัตรเก่าที่ใช้อยู่จะไม่สามารถสแกนภาพเข้าโปรแกรมโฟโต้ชอป เพื่อแต่งภาพได้

อย่างไรก็ตามผู้บริหาร ธปท. ยังไม่ให้ความเห็นปัญหาที่ธนบัตรที่ระลึกราคา 100 บาทใหม่ สามารถนำไปสแกนภาพเข้าโปรแกรมโฟโต้ชอป ตบแต่งภาพได้ เกิดจากความผิดพลาดอะไร และยังไม่ให้ความเห็นว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. เปิดเผยว่า ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีลักษณะการต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงในระดับเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนตามปกติ เช่นเดียวกันกับธนบัตรที่ระลึกในอดีต ประชาชนจึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยต่อการถูกปลอมแปลงและสามารถนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนได้ตามปกติเช่นเดียวกับธนบัตรทุกรุ่น

โดยประชาชนสามารถตรวจสอบธนบัตรด้วย 3 วิธีง่าย ๆ คือ สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง โดยมีจุดสังเกตที่สำคัญ เช่น ความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรและคำว่ารัฐบาลไทย ลายน้ำ แถบสีที่มีภาพเคลื่อนไหว และหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับความคล้ายคลึงกันของธนบัตรที่ระลึกฯ ชนิดราคา 100 บาทกับ ธนบัตรหมุนเวียน ชนิดราคา 1000 บาท ปัจจุบันนั้น ขอแจ้งว่า มีความแตกต่างที่ประชาชนสามารถสังเกตได้ชัดเจน เช่น ขนาดธนบัตรหมุนเวียน 1000 บาทมีขนาดความยาวกว่า 1.2 เซนติเมตร นอกจากนี้ ธนบัตรทั้ง 2 แบบ มีตัวเลขบอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรด้านล่างอย่างชัดเจน อนึ่ง ประชาชนสามารถดูคุณสมบัติโดยละเอียดของธนบัตรที่ระลึกได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/Commemorative_K10_B1000_Coronation.aspx

วุ่นอีก "ธนบัตรที่ระลึก" แต่งภาพในโปรแกรมโฟโต้ชอปได้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารธปท. แถลงว่า ธปท. ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และยังเป็นการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญตลอดจนพระราชพิธีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย โดยจะนำออกใช้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบ 1 ปี ของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ธนบัตรที่ระลึกชุดนี้มี 2 ชนิดราคา คือ 1000 บาท จัดพิมพ์จำนวน 10 ล้านฉบับ และ 100 บาท จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านฉบับ โดยธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 1000 บาท มีรูปทรงแนวตั้ง โดยใช้หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้เป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ใช้อยู่ในธนบัตรแบบปัจจุบัน สำหรับชนิดราคา 100 บาท มีลักษณะโดยรวมและลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบ 17 ที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน โดยปรับโทนสีธนบัตรให้เป็นสีเหลือง สำหรับภาพด้านหลังธนบัตรทั้ง 2 ชนิดราคา เป็นภาพจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562