posttoday

"คลัง"หั่นจีดีพีปี63ติดลบ8.5%

30 กรกฎาคม 2563

คลัง หั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 8.5% ต่อปี พิษโควิด-19 กระทบสาหัส ส่งออกติดลบ 11% ต่อปี ปีหน้าเศรษฐกิจโตได้ 4-5%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัว - 8.5% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการเดิมเมื่อ ม.ค.ที่ 2.8% และต่ำกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 2.4% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในประวัติการณ์ และต่ำกว่าช่วงการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2541 ที่ขณะนั้นเศรษฐกิจชะลอตัวถึง -7.6% ด้วย

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทุกตัวชะลอตัวลงทั้งหมด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่จะชะลอตัว -2.6% การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว -12.6% มูลค่าการส่งออกชะลอตัว -11% การนำเข้าชะลอตัว -14.2%

"เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 มาแล้ว โดยไตรมาสที่ 2 ติดลบมากกว่า 10% โดยเชื่อว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และดีขึ้นอีกในไตมาสที่ 4 ได้"

โดยคำนวณจากสมมุติฐานจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่คาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 15 ประเทศ - 4.1% ต่ำกว่าปี 2562 ที่ขยายตัว 3.1% แต่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นบ้าง

รวมถึงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงบ้าง ก็จะส่งผลดีให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าในปีนี้จะคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเพียง 6.8 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.4 แสนล้านบาท

นายลวรณ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่รัฐบาลออกมา จะสามารถช่วยประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีแรงส่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังยืนยันว่าพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยจะเน้นการบริโภคในประเทศ แต่จะต้องออกในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมไปถึงข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ออกมาตรการช้อปช่วยชาติในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ด้วยเช่นกัน

"หากทุกอย่างดีขึ้น คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4-5% และการส่งออกจะกลับเป็นบวกได้ที่ 5% ส่วนตัวตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาอย่างน้อย 15-16 ล้านคนได้"

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนในการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม แม้ว่าจะมีเม็ดเงินเยียวยาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในก้อน 600,000 ล้านบาท เหลืออีกประมาณ 200,000 ล้านบาทก็ตาม ซึ่งเราจะเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น

ส่วนเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ยังชะลอตัว แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนพ.ค. เพราะได้ปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มผ่อนคลายมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคเอกชนปรับตัวดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.4%

และการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณดีขึ้น เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ -9% และ -26.4% แต่ก็ยังมีปัจจัยนอกประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง