posttoday

แบงก์รัฐแบกหนี้แย่5แสนล้านบาท

29 กรกฎาคม 2563

แบงก์รัฐแบกหนี้เน่า-หนี้ด้อยคุณภาพจ่อคอหอยเฉียด 5 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ภาพรวมการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในเดือน เม.ย. 2563 ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ พบว่า มีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 5.11 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า 2.55% ที่มีสินเชื่ออยู่ 4.99 ล้านบาท

ขณะที่เงินฝาก อยู่ที่ 5.24 ล้านล้านบาท เติบโต 5.81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตจากเดือนก่อนหน้า 1.3% ที่มีเงินฝากอยู่ที่ 5.17 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม กำไรสะสมสุทธิของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท ลดลง 53.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มีกำไร 5.2 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.57% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่มีหนี้เสียอยู่ 2.89 แสนล้านบาท หรือ 4.65% ของสินเชื่อรวม และยังมีสินเชื่อด้อยคุณภาพที่หยุดการชำระ 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน อยู่ที่ 2.38 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.76% ของสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยขณะนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งพยายามเร่งปรับโครงสร้างของสินเชื่อด้อยคุณภาพส่วนนี้เพื่อไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย

ขณะนี้ระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ที่ระดับ 13.83% ถือว่าเป็นระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานระยะต่อไป และสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดว่าต้องมีบีไอเอสไม่ต่ำกว่า 8.5%

อย่างไรก็ตาม การดูแลหนี้เสียและสินเชื่อด้อยคุณภาพ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเร่งดูแลเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้และสถานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ โดยตอนนี้ทุกสถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือผ่านการพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คาดว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐส่วนใหญ่จะขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้ลูกค้าถึงสิ้นปี 63 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้ โดยจะเป็นการพักหนี้แบบสมัครใจ ไม่ได้เป็นการพักหนี้แบบอัตโนมัติเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถชำระหนี้กลับมาชำระหนี้ในระบบตามปกติ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะได้รับทราบข้อมูลด้วยว่าลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ต่อมีปัญหาการชำระหนี้อย่างไร เพื่อที่ระหว่างการพักหนี้จะได้เข้าไปช่วยแก้ไขผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ