posttoday

คลังปลื้มพิโกไฟแนนซ์335ราย ช่วยลดหนี้ลูกค้า

03 มิถุนายน 2563

คลังแจงยอดปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ลดลง จากพิษโควิด และการแข่งขันสูงขึ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2563 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (โรคโควิด 19) ที่ได้ทวีความรุนแรงและมีการแพร่การกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ จนทำให้มีการยกเลิกเทศกาลสงกรานต์ และปิดเส้นทางการเดินทางของประชาชนทุกช่องทางเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาด ประกอบกับปัญหาภาวะภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงอย่างหนักหน่วง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 สถานการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ สศค. ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เข้าร่วม 335 ราย โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมมาตรการแต่ละรายก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาของสัญญาเงินกู้ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดค่าผ่อนชำระรายงวด ไม่ติดตามทวงถามหนี้ หรือไม่คิดค่าปรับล่าช้าหรือค่าติดตามทวงถามหนี้แล้วแต่กรณี เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของทั่วโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีจำนวนผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิ 1,194 ราย เพิ่มขึ้นเพียง 5 รายจากเดือนมีนาคม 2563 ในจำนวนนี้เป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective rate)) สะสมสุทธิจำนวน 1,037 ราย (เพิ่มขึ้น 4 ราย จากเดือนมีนาคม 2563) และเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส (มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ปี (Effective rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป ให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 28% ต่อปี (Effective rate)) สะสมสุทธิจำนวน 157 ราย (เพิ่มขึ้น 1 ราย จากเดือนมีนาคม 2563)

สำหรับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสมณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 248,423 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,589 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,525 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 122,862 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,511 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.29% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 125,561 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,078 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46.71% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่กับลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยคำนึงถึงศักยภาพการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการหารายได้ของประชาชน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการสินเชื่อรายอื่นๆในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ (นาโนไฟแนนซ์) รายใหญ่ ๆ ที่ขยายธุรกิจเพื่อเข้ามาเปิดบริการสินเชื่อในระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นที่นอกเหนือจากสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์