posttoday

เตือนทุ่ม1.68ล้านล้าน พยุงศก. ทำฐานะการคลังเสี่ยงและทำฟองสบู่อสังหาแตก

06 เมษายน 2563

บทความ โดย...อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง มาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะใช้เงิน 1.68 ล้านบาท ว่า วงเงินของมาตรการเศรษฐกิจ 10% ของจีดีพี หรือ ประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท เพียงพอประคับประคองเศรษฐกิจและอาจจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในไตรมาสสองปีหน้า หากมีการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงิน 1.68 ล้านล้านบาทจะฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่อยู่ที่นโยบายสาธารณสุขที่ต้องคุมโรค Covic19 ให้ได้ในระดับเดียวกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น ดูเหมือนว่า การใช้งบประมาณมากขนาดนั้นเมื่อเทียบกับจีดีพีประมาณ 10% เป็นระดับใกล้เคียงกับ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน สิงคโปร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ขยายฐานภาษีทรัพย์สินจริงจัง รายได้ไม่พอ จึงต้องกู้เงิน หากกู้เงินมากขนาดเดียวกับบางประเทศ 10% ของจีดีพี ความเสี่ยงของฐานะทางการคลังจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในอนาคต ทำให้มีประเด็นที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาดังนี้

ประเด็นแรก จะอยู่ที่ว่าจะหาแหล่งเงินมาจากไหนในส่วนของมาตรการทางการคลัง ทั้งส่วนมาตรการลดภาษี ลดการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะของรัฐ (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโทรคมนาคม) และมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ (ลงทุนเพื่อทำให้เกิดการจ้างงานและรายได้) มาตรการเงินโอน (ชดเชยรายได้ เพิ่มสวัสดิการการว่างงาน) งบเพิ่มเติมใหม่นี้จะต้องไม่ไปเบียดบังงบประมาณลงทุนอื่นๆ ที่จำเป็นเพราะจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อประเทศ

ประเด็นที่สอง การทบทวนและการจัดสรรงบใหม่ปี 2563 ต้องตัดลดงบไม่จำเป็นและเพิ่มในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนก่อนจึงต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ดีตามพันธกิจของการบรรเทาปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเป้าไปที่ กลุ่มคนที่เปราะบาง คนที่อ่อนแอรายได้น้อยก่อน ต้องจัดงบไปดูแลในส่วนที่จะให้ผลกระทบในวงกว้างก่อน จัดหาอุปกรณ์ทางแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการรับมือการแพร่ระบาดของโรคในระยะต่อไป

ประเด็นที่สาม ในส่วนของเงินกู้ ให้กู้ภายในประเทศก่อน หากมีผลต่อสภาพคล่องในระบบ หรือ หากมีสัญญาณเกิด Crowding out effects ให้กู้ต่างประเทศแทน

ประเด็นที่สี่ สัดส่วนของมาตรการทางเศรษฐกิจต้องไม่มุ่งไปที่นำเงินไปแจกเพื่อชดเชยรายได้แต่เพียงอย่างเดียวเพราะจะทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป และ จะไม่ได้แก้ปัญหาแบบยั่งยืน การแจกเงินต้องเชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ รายได้ใหม่ และ การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในอนาคต

ประเด็นที่ห้า มาตรการการเสริมสร้างอาชีพและทักษะใหม่ในชุมชนเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเป็นการผลิตสินค้าและบริการที่มีอุปสงค์รองรับ และ ต้องเป็นระบบการผลิตที่ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็งในระยะยาวมากกว่าพึ่งพิงทุนขนาดใหญ่แบบโครงการประชารัฐ

ประเด็นที่หก มาตรการชดเชยรายได้ (แจกเงิน) มีความจำเป็นแต่ไม่เพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาวะการทำงานของประชากรเดือน มกราคม พ.ศ. 2563 พบว่าจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.72 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อม จะทำงาน 37.87 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.18 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.10 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 2.8 แสนคน รวมคนว่างงานและว่างงานแฝงประมาณ 6.9 แสนคน ภาวะที่จำนวนคนว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสองเดือนจาก 1.1% เป็น 13.20-17.16% อาจมียอดคนว่างงานสะสมอยู่ที่ 5-6.5 ล้านคน ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน เมื่อรวมเข้ากับการว่างงานในภาคเกษตรกรรมเนื่องจากภัยแล้งบวกนักศึกษาจบใหม่ในเดือนพฤษภาคมจะทำให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงมากในเวลาอันสั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องนำเอางบประมาณมาลงทุนโดยภาครัฐเพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ หรือ จ้างเอกชนทำโครงการต่างๆหรือผลิตสินค้าจำเป็นบางอย่างที่อาจจะขาดแคลนในอนาคตเพื่อเพิ่มการจ้างงานในระบบ และ ชะลอการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเฉพาะในสาขาที่ประเทศไทยมีอุปทานแรงงานอยู่จำนวนมาก

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า มาตรการทางการเงินของ ธปท. สินเชื่อต่ำพิเศษ ช่วยบรรเทา ปัญหาสภาพคล่องและความยากลำบากทางการเงินของผู้ประกอบการเท่านั้น ไม่มีหลักประกันการเลิกจ้าง การล้มละลายลงของกิจการในเวลาอันสั้น เนื่องจากอุปสงค์มวลรวมหดตัวอย่างรุนแรงฉับพลันมากกว่าที่ควรจะเป็น จาก การหยุดชะงักและทรุดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งและภาคการผลิตบางส่วนอันเป็นผลมาจากตัวโรคระบาดเองและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค Covic19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพและบูรณาการอย่างดีในช่วงแรก รวมทั้งล่าสุดได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พรก ฉุกเฉิน การใช้จ่ายเพื่อการจ้างงาน เพื่อลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้ใหม่ทดแทนรายได้ที่หายไป จึงสำคัญกว่า มาตรการสินเชื่อต่ำพิเศษ แต่มาตรการนี้ก็จำเป็นต้องมีแต่ไม่เพียงพอต้องมีมาตรการอื่นเสริม มาตรการนี้ถึงจะส่งผล

ด้านมาตรการช่วยเหลือกลุ่มทุนธนาคาร กลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงิน ต้องใช้การผ่อนคลายกฎระเบียบเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการใช้เงินทุนซึ่งในที่สุดจะแปลงมาเป็นภาระภาษีประชาชนหรือหนี้สาธารณะในอนาคต การจะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ซื้อตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ต้องเป็นตราสารที่ผู้ออกมีคุณภาพดีและต้องมุ่งไปที่การดูแลนักลงทุนรายย่อย หรือ นักลงทุนสถาบันที่เกี่ยวกับการบริหารผลประโยชน์การลงทุนให้กับผู้ออมที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ การดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าวต้องมีกลไกและคณะกรรมการในการพิจารณาที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินการซื้อตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งคาดหวังว่า ธปท.ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐที่อาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ และ ต้องก่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อย่างเสมอภาค การทำมาตรการ QE ควรซื้อเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้นและการทำการขยายฐานเงินเพื่อสนับสนุนนโยบายการคลังต้องทำให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในภาคเศรษฐกิจจริงจัง เศรษฐกิจถึงเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะทำได้เพียงพยุงตลาดการเงินและราคาสินทรัพย์สินทางการเงินเท่านั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าเกินไป การปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าจากการไหลเข้ามาลงทุนตลาดตราสารหนี้จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี ทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ราคาปรับขึ้นไปเกินปัจจัยพื้นฐาน เมื่อเจอกับวิกฤติโรค Covic19 เกิดความตื่นตระหนกและการขาดทุน ควรเป็นเรื่องที่นักลงทุนควรต้องรับความเสี่ยงเองระดับหนึ่ง ตราบเท่าที่ยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน ธปท. ไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซง หากเกิดความผิดผลาดในการดำเนินการอาจเกิดความเสียหายจำนวนมากแบบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินในยุควิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 ได้

สำหรับ ตราสารหนี้ของเอกชนรายใหญ่หรือตราสารหนี้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ออกตราสารหนี้จำนวนมากเป็นกลุ่มได้ประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นอันเป็นผลจากการไม่ลดดอกเบี้ยและเงินบาทแข็ง แล้วก็เอาเงินทุนที่ระดมได้ไปลงทุนสร้างคอนโดรองรับการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ความเฟื่องฟูของ EEC ก่อนหน้านี้กระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในเขตจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวทั้งหลายอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย เป็นต้น สัญญาณของปัญหาอสังหาริมทรัพย์แบบปี 2540 เริ่มชัดขึ้นแต่ขณะนี้ยังไม่กระทบต่อฐานะของระบบสถาบันการเงินมากนัก เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กู้จากธนาคารน้อยลง กู้ด้วยการออกหุ้นกู้มากขึ้น สถานการณ์ในปี 2563 หากเกิดปัญหาหนี้เสียอสังหาริมทรัพย์จะกระทบต่อตลาดตราสารหนี้มากกว่าธนาคาร แต่ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นก็หลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้อยู่ดี

โรค Covic19 ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างฉับพลัน มาตรการควบคุมการระบาดก็เข้ามาซ้ำเติมให้สถานการณ์การทรุดตัวลงของอุปสงค์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวรุนแรงขึ้นและน่าจะติดลบยืดเยื้อยาวนานไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงทำให้บางบริษัทอาจจะไม่สามารถชำระหนี้เมื่อตราสารหนี้ครบกำหนดได้ ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ประเด็นเรื่องการเทขายจากความตื่นตระหนกอย่างเดียว มันมีเรื่องของปัจจัยพื้นฐานเรื่องความเสี่ยงในการไม่สามารถชำระหนี้ได้รวมอยู่ด้วย

"รัฐบาลและ ธปท.ต้องให้ธุรกิจต่างๆ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แก้ปัญหาของตนเองก่อนในเบื้องต้น ด้วยการเพิ่มทุน หรือขายกิจการหรือขายอสังหาริมทรัพย์ในราคาส่วนลดตามสภาวะเศรษฐกิจหดตัว หรือทำการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านกลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ก่อนเพื่อให้นักธุรกิจ นักลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติต้องรับผลขาดทุนตามสัดส่วนที่เป็นธรรมและความเสี่ยงที่ตัวเองต้องรับผิดชอบไปก่อน แล้ว ธปท. ค่อยนำเงินสาธารณะมาสร้างเสถียรภาพต่อตลาดการเงินด้วยการซื้อตราสารหนี้ หากไม่ทำอย่างที่ ที่แนะนำ สถานการณ์จะคล้ายกับสถานการณ์ที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน นำเงินสาธารณะ ไปซื้อตราสารหนี้ของเอกชน หรือ ไปเพิ่มทุนให้บรรดาบริษัทเงินทุนและธนาคารบางแห่งโดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ก่อนวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 การดำเนินการดังกล่าวได้สร้างภาระหนี้ก้อนโตให้กับประชาชนผู้เสียภาษีในเวลาต่อมา หากเวลานั้น ให้เอกชนพยายามเพิ่มทุนด้วยตัวเองก่อน หรือลดทุนก่อนแล้วจึงเพิ่มทุนให้ ความเสียหายและหนี้สาธารณะจะน้อยลงมาก ตอนนี้หนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินยังใช้ไม่หมดเลย เวลาผ่านมากว่า 23 ปีแล้ว หากไม่ดำเนินการอย่างระมัดระวังและยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดแล้ว คณะกรรมการและผู้บริหารแบงก์ชาติอาจจะเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีเช่นในอดีตแม้นจะออกเป็น พรก ให้อำนาจกับแบงก์ชาติแล้วก็ตาม" นายอนุสรณ์ กล่าว

แม้น ธปท. ยังยืนยันถึงความมีเสถียรภาพและความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินของประเทศ แต่หากปัญหาการทรุดตัวของอุปสงค์ลงอย่างรุนแรงจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อัตราการเติบโตติดลบของการท่องเที่ยวและภาคการผลิตยังดำเนินต่อไปจนถึงปลายปี ประกอบกับการมีการลงทุนส่วนเกินและเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ใน EEC พัทยา ภูเก็ต กรุงเทพและปริมณฑล อาจทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกได้เช่นเดียวกับปี 2540 ส่งผลให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากและกระทบต่อฐานะของสถาบันการเงินได้ ธปท. จึงควรมีมาตรการเชิงรุกเตรียมป้องกันไว้ก่อน

สำหรับการขอขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากออกไปเป็นเรื่องที่ดีแต่ช่วยคนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นการลดความกังวลใจของผู้ฝากเงินร่ำรวยมากกว่า ซึ่งเดือน ส.ค.นี้ จะลดการคุ้มครองเงินฝากลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท จาก 5 ล้านบาท การที่ ธปท.เสนอให้ขยายเวลาการคุ้มครองที่ 5 ล้านบาทไปอีก 1 ปี เป็นการยืดการขยายการคุ้มครองเงินฝากซึ่งทำให้คนที่มีเงินฝากเกิน 5 ล้านบาทซึ่งมีอยู่ประมาณไม่เกิน 1.5% ของเงินฝากทั้งระบบได้ประโยชน์ จากข้อมูลงานวิจัยของสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ผลงานของ อัจจนา ล่ำซำ, รัฐพร บุญเลิศ, สุรศักดิ์ เจิดพสุพร, โสมรัศมิ์ จันทรัตน์) ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ผู้ฝากเงินรายใหญ่สุด 10% มีเงินฝากรวมถึง 93% ของเงินฝากในระบบธนาคาร คนไทย 56.4% มีเงินฝากในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท และ 32.8% มีเงินฝากไม่เกิน 500 บาท ฉะนั้นรัฐบาลไม่ต้องแปลกใจว่า เมื่อรัฐบาลมีมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท จึงมีคนลงทะเบียนกว่า 20 ล้านคน และ ทำไมรัฐสั่งให้ปิดกิจการ ลูกจ้างนอกระบบ ลูกจ้างรายวันถึงเดือดร้อนหนักมากเพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศแทบจะไม่มีเงินออมและมีหนี้สินมาก หาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้ากระทบจากประกาศเคอร์ฟิว หากไม่ได้ทำงานหรือขาดรายได้เพียงไม่กี่วันก็อยู่อย่างยากลำบากแล้ว ไม่มีหลักประกันเหมือนแรงงานในระบบ