posttoday

แบงก์ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพีไทย-5.6%

03 เมษายน 2563

แบงก์ไทยพาณิชย์ ปรับลดจีดีพีปีนี้ –5.6% รวมมาตรการกู้เงิน2แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2563 เป็นหดตัวที่ -5.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -0.3% โดยมีสาเหตุหลักจากพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 4 ข้อ ได้แก่

1) เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการหยุดลงแบบฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (sudden stop) เป็นผลจากปัญหา Covid-19 และมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวมากที่ -12.9% ในปีนี้

2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มจะลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยจะลดมาอยู่ที่ 13.1 ล้านคนในปีนี้ หรือหดตัวที่ -67% จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาโรคที่ได้ผล และจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้

3) การประกาศปิดเมืองในหลายส่วนของไทย ซึ่งแม้เป็นกลยุทธ์ ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรค แต่จะส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการของภาคครัวเรือนโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพิ่มเติมจากความกังวลของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มีลักษณะ face-to-face ในช่วงโรคระบาดอยู่แล้ว

4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่คาดว่าจะมีออกมาเพิ่มเติม จะมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทย โดย EIC ได้เพิ่มสมมติฐานของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการออก พรก. กู้ฉุกเฉิน จำนวน 200,000 ล้านบาทไว้ในการประมาณรอบนี้ด้วย

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของหลายประเทศ ทำให้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีแนวโน้มหดตัวที่ -2.1% ในปี 2563 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย โดย EIC ได้ปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2020 เป็นหดตัวที่ -12.9% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -5.8%

ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยว EIC ได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 13.1 ล้านคน (เดิมคาด 27.7 ล้านคน) หรือหดตัว -67% จากปีก่อน โดยเป็นผลจากมาตรการปิดประเทศของประเทศต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19

มาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อแรงงานและภาคธุรกิจ มาตรการที่ได้จัดทำไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ถูกกระทบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาษี มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน

อย่างไรก็ดี EIC เชื่อว่า ในระยะต่อไป ภาครัฐจะเร่งดำเนินการออกมาตรการการคลังเพื่อชดเชยรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ตกงานหรือสูญเสียรายได้จาก COVID-19 ทั้งในส่วนการโอนเงินให้กับผู้ถูกกระทบจำนวน 3 ล้านคนที่ประกาศไปแล้ว และการเพิ่มวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทบได้มากขึ้น ผ่านการออก พรก. กู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการอัดฉีดเงินให้ถึงมือของผู้เดือดร้อนได้ตรงจุดและประคับประคองเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ EIC ได้ใส่สมมติฐานวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินจำนวน 200,000 ล้านบาทในการประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้แล้วด้วย