posttoday

EXIM BANK คลอด “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี” ช่วยลูกค้าเจอโควิด

01 เมษายน 2563

EXIM BANK ออกมาตรการพิเศษ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี” พร้อมขยายเงื่อนไขคุ้มครองการส่งออกไปทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ออก “มาตรการเอ็กซิมดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19” เป็นสินเชื่อระยะยาว วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 2% ต่อปีในปีที่ 1-2 ส่วนปีที่ 3-4 อยู่ที่ Prime Rate -1.25% และปีที่ 5-7 อยู่ที่ Prime Rate -0.25% (Prime Rate ณ 31 มีนาคม 2563 เท่ากับ 5.75%) ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 7 ปี ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 2 ปีแรก และฟรี! ค่าธรรมเนียม Front-end Fee เพื่อให้ผู้ประกอบการ นำไปใช้หมุนเวียนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจาก COVID-19 ติดต่อขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 ธันวาคม 2563

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ขยายเงื่อนไขมาตรการ EXIM ลดภาระผู้ส่งออกไทย สู้ภัยไวรัสโคโรนา ให้แก่ลูกค้า

• ด้านสินเชื่อ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน เพื่อลดภาระลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวและระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้ภายใน 31 ธันวาคม 2563

• ด้านรับประกันการส่งออก ขยายระยะเวลาการชำระเงินที่ให้ความคุ้มครองสูงสุด 270 วัน แก่ผู้ส่งออกที่ถือกรมธรรม์ประกันการส่งออกของ EXIM BANK และส่งออกไปทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้ภายใน 31 กรกฎาคม 2563

- กรณีไม่เกิน 180 วัน ไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันเพิ่ม

- กรณีมากกว่า 180 วัน แต่ไม่เกิน 270 วัน ชำระค่าเบี้ยประกันเพียง 50%

ทั้งนี้ ฟรี คุ้มครองการส่งออกสินค้าเน่าเสียง่าย กรณีผู้ซื้อในจีนไม่รับมอบสินค้า สูงสุด 50% ของมูลค่าใบกำกับสินค้า และลดระยะเวลาพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีผู้ซื้อในจีนไม่รับมอบสินค้า

EXIM BANK คลอด “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี” ช่วยลูกค้าเจอโควิด

“การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วน EXIM BANK จึงติดตามสถานการณ์และออกมาตรการใหม่ ๆ รวมทั้งโปรแกรมสินเชื่อพิเศษต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือกับสถานการณ์และประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินไปได้ ลดผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในและต่างประเทศ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจและลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและระยะถัดไป” นายพิศิษฐ์ กล่าว