posttoday

หุ้นไทยหมดตัวช่วย กองทุนพยุงหุ้นล่ม

17 มีนาคม 2563

หุ้นไทยอยู่ในภาวาดิ่งเหว ทำให้ตอนนี้ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าหุ้นไทยจะดิ่งต่ำกว่า 1,000 จุด ลงไปมากแค่ไหน

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

................................

หุ้นไทยล่าสุด 16 มี.ค. 2563 ดัชนีปิดที่ 1,046.08 จุด ลดลง 82.83 จุด หรือ ลดลง 7.34%

นับจากต้นปี 30 ธ.ค. 2562 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,579.84 จุด มูลค่า 16.74 ล้านล้านบาท

จะเห็นว่า ดัชนีหุ้นไทยตกไปแล้ว 513.76 จุด มูลค่าของตลาดหุ้นในช่วง 2 เดือนครึ่งหายไปประมาณ 5 ล้านล้านบาท แล้ว สาเหตุมาจากการระบาดไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่ลามไปทั่วโลก รวมถึงไทยที่เอาไม่อยู่จนนักลงทุนคาดว่าจะลามเข้าสู่ระยะที่ 3 และต้องปิดประเทศในที่สุด

ล่าสุด ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ได้ประกาศใช้มาตรการ circuit breaker เพื่อพักการซื้อขายชั่วคราว หลังจากดัชนีหุ้นทรุดตัวลงอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หลังจากเปิดตลาดได้ไม่นาน ดัชนีดาวโจนส์ได้ปรับตัวลดลง 2,250.46 จุด หรือ 9.71% มาอยู่ที่ 20,935.16 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ทรุดตัวลงกว่า 8% ส่งผลให้ต้องพักการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที

การใช้มาตรการ circuit breaker ของตลาดหุ้นนิวยอร์กในครั้งนี้ ถือเป็นการใช้ครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากมีการใช้ 2 ครั้งในสัปดาห์ที่แล้ว

สุดท้าย ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 20,188.52 จุด ทรุดตัวลง 2,997.10 จุด หรือ -12.93% ขณะที่ดัชนี เอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 2,386.13 จุด ร่วงลง 324.89 จุด หรือ -11.98% และดัชนี แนสแดค ปิดที่ 6,904.59 จุด ดิ่งลง 970.28 จุด หรือ -12.32%

สภาพตลาดหุ้นโลกแย่เช่นนี้ ทำให้หุ้นไทยอยู่ในภาวะสาหัส มีแต่ทรงกับทรุดไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่สำคัญ ตัวช่วยกองทุนพยุงแสนล้านบาท ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้คลังจัดตั้งเป็นการด่วน และ อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ออกมารับลูก ว่าจะตั้งกองทุนพยุงหุ้นแสนล้าน เห็นที่จะล่ม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งปิดประตูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุ้มตลาดหุ้นทั้งหมด ขอทุ่มกำลังคนและงบประมาณทั้งหมดไปกับการแก้ไขการระบาดของของไวรัสโควิด-19 ให้ได้เสียก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับ นายกรัฐมนตรีปฏิเสธการตั้งกองทุนพยุงหุ้นแสนล้านบาทนั้นเอง เพราะกองทุนพยุงหุ้นไม่มีความชัดเจน จะใช้เงินจากที่ไหน เพราะหากใช้เงินงบประมาณเห็นที่รัฐบาลจะถูกวิจารณ์จนจมแผ่นดิน เพราะขนาดแจกเงิน 2 พัน 2 หมื่นล้าน ให้กับประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังโดนวิจารณ์ยับจนต้องกลับลำเลิกแจก

นอกจากนี้ การจะให้เอกชนกองทุน หรือ โบรกเกอร์ลงขันกันตั้งกองทุนพยุงหุ้นแสนล้าน ในยามนี้เห็นที่จะลำบาก เพราะลำพังพยุงตัวเองให้ผ่านมรสุมไวรัสโควิด-19 ไปได้ก็สาหัสอยู่แล้ว หากต้องมาลงขันเป็นพันเป็นหมื่นล้านอุ้มตลาดหุ้นขาลงที่ไม่เห็นแนวรับอย่างนี้เป็นไปได้อยาก

ส่วนมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็เล็กเกินไปที่จะรับมือ ถึงแม่ว่า คระกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเร่งเครื่องเต็มสูบ ตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SFF) เพื่อพยุงตลาดหุ้น กว่าจะเริ่มตั้งได้ 1 เม.ย. 2563 ก็ช้าไม่ทันการณ์แล้ว

ขณะที่มาตรการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ทำแบบกล้าๆ กลัวๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเก็งกำไรจากการขายชอร์ต (Short Selling) แทนที่จะออกมาตรการห้ามไปก่อน แต่ก็ทำแค่เพิ่มเงื่อนไขให้ขายชอร์ตอยากขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่เหลือบ่ากว่าแรงของนักเก็งกำไรหุ้น ที่จะเล่นขายชอร์ตฟันกำไรจากตลาดขาลงต่อไป

สำหรับความพยายามของ ตลท. ที่จะเป็นมาร์เก็ตติ้งขายหุ้นเอง โดนเสนอข้อมูล 66 หุ้นดีจ่ายเงินปันผลงาม ซึ่งกลายเป็นดาบสองคม เท่ากับมองอีกด้านหนึ่งคือ หุ้นที่เหลืออีกหลายร้อยตัวไม่น่าลงทุนแล้ว ซึ่งธรรมชาติของนักลงทุนไทย มีสัดส่วนน้อยที่ชอบลงทุนหุ้นปันผลดี เพราะนักลงทุนไทยยังชอบหุ้นเก็งกำไร ได้กำไรจากส่วนต่างราคามากกว่าเงินปันผล

ตลาดหุ้นไทย ยังสาหัสจากการการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ลาม จนรัฐบาลเอาไม่อยู่ มาตรการรับมือย่างสับสนอลมาน จะประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็ไม่กล้า ขณะที่มาตรการแก้ไขการระบาด ที่ก็ยังสับสน จะปิดเมืองก็ไม่กล้า ทำให้ตลาดหุ้นได้หุ้นพร้อมลงต่อเมื่อรัฐบาลจนมุมประกาศมาตรการดังกล่าวออกมาในที่สุด

ถึงวันนี้ ไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ตลาดหุ้นไทยจะดิ่งลงไปอยู่ที่ก้นเหวขนาดนั่น ได้แต่บอกว่า การลงทุนมีความเสี่ยง กองทุนพยุงหุ้นเกิดขึ้นได้ยาก โควิด-19 เอาไม่อยู่ การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงเสี่ยงสูง อยู่ในภาวะตัวใครตัวมัน ได้กำไรถือมีโชค หากขาดทุนก็คงได้แต่ทำใจรอลงจากยอดดอย ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน